สวนพุทธธรรม ปัญญจิตตธัมโม
Personal menu
Search

อริยสัจจ์แห่งจิต

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์

 

จิตเห็นจิตเป็นมรรค ในการภาวนานั้น การฝึกรู้ด้วยจิตในสติปัฏฐาน ๔ ก็เพื่อความตั้งมั่นแห่งสัมมาสมาธิ เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิได้มากพอ ผลที่ตามมาก็คือเกิดการแยกตัวออกของจิต (ผู้รู้) และอาการของขันธ์ (ซึ่งก็คือสิ่งที่ถูกรู้) ซึ่งในสภาวะตอนนี้ในวงการภาวนาจะเรียกว่า สภาวะแห่งการเป็นของคู่ คือ มีผู้รู้ และสิ่งที่ถูกรู้ ในบรรดาสิ่งที่ถูกรู้นั้น คืออาการต่างๆ ในขันธ์ ๕ สิ่งถูกรู้เหล่านี้มิใช่จิต นี่ยังเป็นการรู้ การละ ไม่ยึดติดด้วยกำลังของสัมมาสมาธิ

การที่นักภาวนาได้ลงทุนลงแรงฝึกฝนสติปัฏฐาน ๔ จนเกิดสภาวะของคู่ขึ้นมาได้นั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เป็นกันได้ง่ายๆ ได้มาถึงนี่ก็ดีมากแล้ว แต่ก็ยังต้องฝึกฝนต่อไปอีก เมื่อสัมมาสมาธิแก่กล้าขึ้นเพราะตั้งมั่นมากขึ้น ลำดับต่อไปนักภาวนาจะเกิดสัมมาญาณ อันเป็นญาณที่เห็นจิตได้ การเห็นจิตได้ด้วยญาณนี้จึงจะขึ้นสู่ขั้นต้นของสิ่งที่เรียกว่า จิตเห็นจิต การเห็นจิตนี้ จึงเป็นการเริ่มต้นของการตกกระแสพระนิพพาน เพราะเมื่อนักภาวนาได้เห็นจิตได้แล้ว ก็จะรู้จักจิตและเห็นจิตได้มากขึ้น ได้บ่อยขึ้น (หมายเหตุ นักภาวนาที่เพิ่งเห็นจิตได้ใหม่ๆ จะเห็นจิตได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ยังเห็นได้ไม่ต่อเนื่องตลอดเวลา)

ชาวพุทธสักคนจะเข้าสู่การตกกระแส เพราะเขียนไว้ เพียงสังโยชน์ขาดขั้นต้น ๓ อันดับ คือ ๑) สักกายทิฎฐิ ๒) วิจิกิจฉา ๓) สีลพพตปรามาส แต่ในความเป็นจริงในการภาวนา ถ้ากล่าวว่า โสดาบัน คือผู้ตกกระแสพระนิพพานแล้ว และจะมีแต่ก้าวต่อไป ไม่กลับมาอีกไม่เกิน ๗ ชาติ ผู้ที่จะมีคุณสมบัติอย่างนี้ได้ ก็จะมีแต่นักภาวนาที่พบอาการจิตเห็นจิตได้แล้วเท่านั้น จึงจะเป็นปัญญาชนขั้นต้นในระดับญาณ ที่จะมีสิทธิทำลายกิเลสได้สิ้นจนถึงที่สุด และการเสื่อมจากญาณก็จะไม่มี เพราะได้รู้แล้ว เห็นแล้ว รู้จักแล้ว เพียงแต่ยังไม่สมบูรณ์ต่อเนื่อง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง (หมายเหตุ การได้สภาวะของคู่ เพราะสัมมาสมาธิ โดยยังไม่เกิดญาณ สัมมาสมาธิสามารถเสื่อมถอยได้อยู่)

การที่ จิตเห็นจิต จึงเป็นสิ่งที่ยากสุดๆ สำหรับนักภาวนาที่ยังไม่เคยเห็นจิตของจริง เพราะอธิบายให้ฟังก็ยากมาก ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นมันปรากฏอยู่แล้วอยู่ข้างหน้า แต่นักภาวนาไม่เห็นเอง เพราะไม่รู้จัก เมื่อนักภาวนาพบจิตได้แล้ว นักภาวนาเพียงหมั่นฝึกฝนต่อไปอีก ขอให้เชื่อได้เลยว่า เมื่อนักภาวนาได้ตกกระแสแล้ว ก็จะมีแต่จะไม่หวนกลับ เพราะกำลังสัมมาสมาธิที่ยิ่งตั้งมั่น ก็จะเสริมสัมมาสมญาณให้มั่นคง แล้วการเกิด จิตเห็นจิต ก็จะยิ่งได้บ่อย เห็นได้นาน เห็นเหมือนจิตไม่หายไปไหนเลย

 ในคำสอนของครูบาอาจารย์และในพระไตรปิฎก ได้กล่าวเปรียบเทียบ จิตเหมือนฟองไข่ และในคำสอนก็บอกว่า ให้ทำลายจิตทิ้งเสีย เมื่อจิตถูกทำลายทิ้ง สภาวะของคู่ก็จะสลายไป กลายเป็นสภาวะใหม่ที่เรียกว่า ความเป็นหนึ่ง ขึ้นมาแทน ในความเป็นจริงไม่มีใครทำลายจิตได้ แม้แต่ตัวนักภาวนาเอง แต่การที่จิตเกิดการแตกสลายออกไปนั้น เกิดจากที่จิตที่บ่มเพาะปัญญาที่จิตไปเห็นจิตที่แปรเปลี่ยนไปมาเพราะมีการสร้างขันธ์ขึ้นของจิต และเห็นสภาวะแห่งจิตที่หยุดสร้างขันธ์

ปัญญานี้แหละที่จะทำลายจิตให้เป็น จิตหนึ่ง การที่จิตหยุดสร้างขันธ์ ในครูบาอาจารย์มักกล่าวว่า ให้จิตหยุดคิด หรือฮวงโปได้กล่าวว่า ให้หยุดปรุงแต่งเสีย นี่เป็นสิ่งที่ยากยิ่งอีกอย่างของนักภาวนา จิตหยุดคิด เพราะนักภาวนาไม่รู้จัก จิตหยุดคิดเป็นอย่างไร ถ้านักภาวนาเพียงคิดว่า จะทำอย่างไรให้จิตหยุดคิด นั้นคือเป็นการคิดแล้ว ถ้านักภาวนาเพียงรู้ว่า นี่ลมหายในเข้า นี่ลมหายใจออก นี่กินข้าวไปแล้วสิบคำ นี่ก็คือการคิดแล้วเช่นกัน

จิตหยุดคิด ก็คือ จิตหยุดสร้างขันธ์ จิตที่ไม่สร้างขันธ์ ในมโนจะใสกระจ่างแจ้ง จิตที่กำลังสร้างขันธ์ ในมโนจะขุ่นมัวไม่สดใส ในสภาวะแห่งจิตหนึ่ง แสงแห่งจิตจะส่องสว่างขึ้น ไม่มืดมัว เมื่อจิตส่องแสงสว่าง อันกิเลสต่างๆ ที่อาศัยโมหะเป็นชนวนการเกิดก็เกิดไม่ได้ เพราะโมหะต้องอาศัยเกิดตอนจิตมืดมิด เมื่อจิตส่องสว่าง ความมืดย่อมหายไป กิเลสจึงเกิดอีกไม่ได้เพราะเหตุนี้ นี่คือธรรมชาติของจิตที่ประภัสสรเปล่งประกายออกมา แล้วกิเลสก็เกิดไม่ได้เอง นี่คือวิถีแห่งมรรค