๑) สิ่งสำคัญของการเดินจงกรม คือ ตานอกกับตาใน เมื่อเริ่มเดิน ตาในดูความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ตานอกดูพื้น การรับรู้ทั้งหมดยังทำงาน หูรับรู้ จมูกยังหายใจรับรู้กลิ่น กายยังรับรู้สัมผัสอากาศร้อนเย็น เท้าสัมผัสกับพื้นรู้ รู้สึก มดมากัดก็รู้ ๒) ขณะที่เดินไปนั้น ตาในก็ให้มองไปที่จุดเดียว คือความรู้สึกตัวทั่วพร้อม เดินไปๆ อย่าให้หลุดจากความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวนั้นเป็นเอกัคคตารมณ์ ตาในนั้นตั้งมั่นอยู่ที่ผู้รู้ เรียกว่า เอกัคคตาจิต ๓) การเดินต่างจากการนั่ง เพราะเดินแล้วมีการเคลื่อนไหว ไม่เหมือนกับการนั่ง สติจะค่อยๆ ปรากฏขึ้น เดินไปๆ โดยที่ตาในยังดูความรู้สึกตัวไปเรื่อยๆ ไม่ต้องคาดหวังอะไรทั้งนั้น เดินไปๆ สังเกต เสียงกระทบหูก็รู้ ลมร้อนมากระทบกายก็รู้ มดมากัดเท้าก็รู้ เสียงเข้าหูก็รู้ ความคิดปรากฏขึ้นก็รู้ อารมณ์เบื่อปรากฏขึ้นก็รู้ เดินอย่างนี้ เดินไปๆ สิ่งที่เคลื่อนไหวทั้งหมดกระทบเข้ามา ๔) ดูอย่างนี้ไปเรื่อยๆ สติจะเด่นชัดขึ้นๆ แล้วมันจะแยกเข้าสู่ความเป็นกลาง ตรงนั้นสติเฝ้าดูไม่วอกแวกไปไหน และไม่ไปรวมกับผู้รู้ ไม่ไปรวมกับกาย สติกับผู้ดูกับใจก็จะปรากฏชัดขึ้นๆ ความรู้สึกตัวของกายก็จะชัดขึ้นๆ เพราะเราดูไปที่จุดเดียว ความรู้สึกทุกอย่างกระทบมาที่ผู้รู้ เรารู้ แต่ไม่ดู ดูไปที่เดียว ๕) การที่เอาผู้ดูไปดูที่ความรู้สึกตัว เรียกว่า ฌาน อารมณ์ของฌาน ๖) ตอนที่รวมลงจะรู้สึกชัดเลยว่าผู้รู้นิ่ง แล้วรวมอยู่ที่ฐาน ผู้ดูก็เห็นจิตผู้รู้นี้รวมอยู่ที่ฐาน ไม่ออกไปจากกาย สงบนิ่งอยู่ที่ผู้รู้ โดยมีสติกับใจเป็นผู้ดู ๗) ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนก็สามารถเดินได้โดยใช้วิธีดูแบบนี้ บนความสงบนิ่งมีอารมณ์มากมายกระทบเข้ามา เรารับรู้ทั้งหมด เห็นความคิดทั้งหมด แต่ผู้รู้นิ่งอยู่ที่ผู้รู้ ถ้าคนสติไวพอจะคุมได้ แต่ละช็อตของภาพที่กระทบเข้ามา แล้วจะเห็นความเคลื่อนไหวภายในผู้รู้ นั่นเป็นเพราะอยู่ตรงกลางได้แล้ว ๘) ถ้ามีสติเฝ้าดูความรู้สึกตัวชัดเจนแล้ว นั่นเรียกว่า อารมณ์ของฌาน มีความสงบเป็นอารมณ์ มีความนิ่งเป็นอารมณ์อยู่ที่ผู้รู้ แต่ผู้รู้ตั้งอยู่ที่ผู้รู้ เป็นสมาธิตั้งมั่นอยู่ เป็นเอกัคคตาจิต มีความรู้สึกตัวเป็นอารมณ์ แต่เป็นฌานที่เรียกว่า สมาธิกับฌาน มีสติอยู่ตรงกลางแล้วก็เคลื่อนไหวไปพร้อมกันขณะที่เดิน ถ้าทำอย่างนี้ได้สมาธิแบบนี้จะไม่วอกแวก ไม่ถูกอารมณ์เข้ามาครอบงำง่าย เพราะเราเคลื่อนไหวอยู่ |