เมื่อแต่ก่อน ภาวนาแน่วแน่ แต่ปฏิภาค แต่ธาตุ แต่ไม่แน่วแน่ทางจิต เดี๋ยวนี้แน่วแน่ทางปฏิภาคด้วย แน่วแน่ทางจิตด้วย ความรู้อริยสัจ จึงแม่นยำดีกว่าเก่านั้นมาก จิตสละตายลงไปถึงอมตธรรม
แต่ก่อนสละตายลงไปไม่ได้ เกิดกลัว เพราะภูมิสมถะและวิปัสสนาไม่พร้อมสามัคคีกัน
เมื่อภาวนาพิจารณาแยบคายแล้วสังขารโลกปลงให้เขาเสีย แล้วแต่เขาจะแก่ เจ็บตาย เป็นเรื่องของเขา รีบเดินมรรคให้พ้นไปจากสังขารโลก เพราะสังขารโลกเป็นภัยใหญ่โต จะอยู่ไปก็เป็นเรื่องของเขา จะตายก็เป็นเรื่องของเขา แต่ภาวนาความรู้ความเห็นใน อมตธรรม นั้นให้มากนั้นเองเป็น วิหารธรรม ที่พึ่งของจิต
เมื่อตายแล้วนั้นเอง จะไปเกิดในที่ดี แปลว่า ไม่อุทธรณ์ร้อนใจในความแก่ เจ็บ ตาย นั้นเป็นเรื่องของสังขาร
เมื่อรู้เท่าแล้ววางเฉย เป็นความสุขอย่างยิ่ง ถ้ามีความรักความชังอยู่... นั้นเองเป็นทุกข์อย่างยิ่ง เพราะยินดียินร้ายในเรื่องนั้น แปลว่า เจ็บ แสบ ร้อน ไปด้วยเขา จึงเป็นทุกข์
หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร
ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๔ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายคำฝอย วรบุตร ลูกชายเจ้าเมืองแก่นท้าว แขวงไชยบุรี ประเทศลาว และนางกวย (สุวรรณภา) วรบุตร ในช่วงวัยเด็กท่านศึกษาจบระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ และได้ทำงานเป็นเสมียน กับพี่เขยที่เป็นสมุห์บัญชีสรรพากร อำเภอเชียงคาน และเมื่อปี ๒๔๖๔ ได้ย้ายไปทำงานที่อำเภอแซงบาดาล (ธวัชบุรี) และที่ห้องอัยการภาค จังหวัดร้อยเอ็ด ด้วยการอุปถัมภ์ของอัยการภาคร้อยเอ็ด ท่านได้นับถือศาสนาคริสต์ อยู่ ๕ ปี จนลุงของท่าน เรียกท่านว่า เซนต์หลุยส์ หรือ หลุย ท่านจึงถูกเรียกชื่อว่า หลุย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และต่อมาท่านได้กลับใจเปลี่ยนศาสนามานับถือศาสนาพุทธแทน และได้อุปสมบทเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ เป็นพระมหานิกาย ณ อำเภอแซงบาดาล จังหวัดร้อยเอ็ด ในช่วงพรรษาที่ ๑ ท่านได้พยายามศึกษาพระธรรมวินัย ทั้งปริยัติธรรมและปฏิบัติ ครั้นถึงคราวออกพรรษา ท่านได้ลาพระอุปัชฌาย์ไปเข้าร่วมการคัดเลือกเกณฑ์ทหารที่จังหวัดเลย และได้เดินทางไปนมัสการพระธาตุพนม ที่จังหวัดนครพนม
ระหว่างทางได้พบพระธุดงค์กัมมัฏฐานรูปหนึ่งมาจากอำเภอโพนทอง รู้สึกถูกอัธยาศัย ท่านได้ร่วมถวายภาวนาเป็นพุทธบูชา ณ ลานพระธาตุพนมตลอดคืน บังเกิดความอัศจรรย์ กายลหุตา จิตลหุตา คือ กายเบา จิตเบา จึงตั้งสัจจาอธิษฐานว่าจะบวชกัมมัฏฐานตลอดชีวิต ระหว่างทางที่ท่านเดินทางมาสู่จังหวัดเลย เมื่อท่านเดินทางมาบ้านหนองวัวซอ ท่านก็ได้มีโอกาสในการฟังธรรมจาก พระอาจารย์ บุญ ปัญญาวโร รู้สึกเลื่อมใสมาก และขอถวายตัวเป็นศิษย์ของท่าน ณ ที่นี้ ท่านได้พบกับ พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และอยู่ปฏิบัติรับฟังโอวาทจาก พระอาจารย์เสาร์ โดยมี พระอาจารย์บุญ เป็นพระพี่เลี้ยง จากนั้น ได้ไปกราบนมัส พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ที่ท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ได้อยู่อบรมรับฟังโอวาทและฝึกปฏิบัติกับพระอาจารย์มั่น จวบจนเข้าพรรษา จึงกลับมาจำพรรษาต่อกับพระอาจารย์เสาร์ ที่วัดพระพุทธบาทบัวบก ในพรรษานี้ ท่านได้ภาวนาจนจิตรวมแล้วเกิดอาการสะดุ้ง พระอาจารย์บุญ จึงให้ญุตติจตุถกรรมใหม่ที่ วัดโพธิสมพรณ์ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ โดยมี พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระอาจารย์บุญ ปญญาวโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลังจากนั้นท่านก็ปฏิบัติธุดงค์กรรมฐานเรื่อยมา และได้วิชาม้างกาย ที่ถ้ำบ้านโพนงาม จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานแบบที่หลวงปู่เทศนาสอนในภายหลัง
หลวงปู่หลุย ท่านรักษาศีลครบ ๕ ข้อ และปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด และในช่วงทุกวันอาทิตย์ท่านก็จะให้ศีล ๕ หรือ ศีล ๘ และท่านมีเมตตาต่อผู้ครองเรือน รักษาศีล ๕ ย่อมสำเร็จโสดาบันได้ สำหรับศีล ๘ ย่อมช่วยให้สามารถสำเร็จถึง อนาคามีได้ หลวงพ่อท่านเป็นผู้มีความเมตตาต่อทุกชนชั้นวรรณะ และ มีเมตตาต่อผู้คน จนประชาชนชาวไทยต่างเลื่อมใสท่านเป็นจำนวนมาก และ ต่างรู้จักพระเกจิอาจารย์สายอีสานรูปนี้
หลวงปู่หลุย ท่านได้เริ่มอาพาธหนัก โดยไม่อ้างกาลเวลา แม้อาพาธอย่างหนัก ยังปรารภปัจฉิมเทศนาเป็นครั้งสุดท้าย จวบจนเวลา ๒๓.๓๐ น. ท่านได้กล่าวว่าท่านประคองธาตุขันธ์ต่อไปไม่ไหว คงจะปล่อยวางแล้ว ขอเอาจิตอย่างเดียว และขอขอบใจที่พระเณรได้ช่วยกันอุปัฏฐากท่าน หากได้ล่วงเกินซึ่งกันและกัน ก็ขอให้อโหสิกรรมให้แก่กันและกันด้วย และในวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ เวลา ๐๐.๔๓ น. หลวงปู่หลุยท่านได้มรณภาพด้วยอาการสงบเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร