จิตรวมใหญ่ด้วยการหยั่งสติปัญญาลงในกายานุปัสสนา
แยกแยะส่วนต่างๆ ของธาตุขันธ์ออก พิจารณาด้วยปัญญาไม่ลดละ
คือยกทั้งส่วนรูปกาย ทั้งส่วนเวทนาคือทุกข์ภายใน ทั้งส่วนสัญญาที่หมายกายส่วนต่างๆ ว่าเป็นทุกข์ ทั้งส่วนสังขารตัวปรุงแต่งว่า ส่วนนี้เป็นทุกข์ ส่วนนั้นเป็นทุกข์
ขึ้นสู่เป้าหมายแห่งการพิจารณาของสติปัญญาผู้ดำเนินงาน ทำการขุดค้น คลี่คลายอย่างไม่หยุดยั้ง
จิตมีกำลังขึ้นมาอย่างประจักษ์สามารถคลี่คลายธาตุขันธ์จนรู้แจ้งตลอดทั่วถึง ด้วยอำนาจแห่งการพิจารณา
ประวัติและปฏิปทา
พระครูสุทธิธรรมรังษี หรือ หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท (๖ มิถุนายน ๒๔๕๙ - ๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๗) วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี นามเดิม โอวเจี๊ยะ โพธิกิจ ชาวจังหวัดจันทบุรี เป็นพระเถระที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเสาหลักแห่งวงศ์พระกรรมฐานในภาคกลาง ท่านเป็นลูกศิษย์ที่พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ไว้วางใจเป็นอย่างมาก และตั้งฉายาให้ท่านว่า “ผ้าขี้ริ้วห่อทอง”
สมัยเป็นฆราวาส ท่านทำอาชีพค้าขายและเป็นกำลังสำคัญของครอบครัว ท่านไม่ใช่นักเลง แต่เป็น “ตัวแสบ” ของหมู่บ้านมาตั้งแต่ยังเด็ก อุปนิสัยไม่เกรงกลัวใคร ทำอะไรจริงจังและตรงไปตรงมา แม้ไม่เคยสนใจธรรมะมาก่อน แต่พออายุครบ ท่านก็มีความปรารถนาที่จะบวชเพื่อทดแทนคุณบิดามารดาด้วยตัวของท่านเอง โดยไม่มีใครบังคับ ตอนมาเข้านาค ขณะท่านฟังเทศน์พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ อยู่ จิตเกิดรวมเป็นสมาธิ เห็นตัวเองไม่มีตัวตน ความสุขที่ได้รับจากความสงบในครั้งนี้ เป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้ท่านฝักใฝ่ในคุณธรรมที่สูงยิ่งๆ ขึ้นไป
เมื่ออายุได้ ๒๑ ปี หลวงปู่เจี๊ยะได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุต ที่วัดจันทนาราม อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี โดยมีพระครูครุนารถสมาจาร (เศียร) เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อบวชแล้ว ท่านก็ได้มาอยู่กับพระอาจารย์กงมา ที่เสนาสนะป่าช้า บ้านหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี จากนั้นท่านก็มุ่งมั่นปฏิบัติกรรมฐานอย่างจริงจัง โดยที่ไม่ได้สนใจการศึกษาฝ่ายปริยัติมากนัก ท่านมีความวิริยะอุตสาหะอย่างแรงกล้า ถือเนสัชชิกไม่นอนในช่วงค่ำคืนตลอดพรรษา และบำเพ็ญภาวนาด้วยการยืนภาวนา เดินจงกรม และนั่งสมาธิ ตลอดรุ่ง
ในพรรษาที่ ๓ หลวงปู่เจี๊ยะได้สภาวธรรมคือจิตรวมใหญ่ ขณะพิจารณาในกายานุปัสสนาใต้ต้นกระบก ท่านเห็นกายกับใจแยกออกจากกัน โลกสมมตินี้ขาดพรึ่บลงไม่เหลืออะไร เหลือเพียงความบริสุทธิ์ของใจ ผลคือวัตถุสมบัติทั้งโลกก็หมดความหมายไป ไม่มีค่าอะไร แม้แต่ความยึดติดในกามคุณทั้งหลายก็สลายหมดไปจากใจ จากนั้นท่านจึงเดินทางไปพบพระอาจารย์มั่นที่วัดร้างป่าแดง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อกราบเรียนถวายผลของการปฏิบัตินี้ เมื่อพระอาจารย์มั่นได้ฟัง ท่านก็นิ่งเงียบ นับเป็นการยอมรับตามอริยประเพณี และแนะนำสั้นๆ ว่าให้ทำอย่างเดิมต่อไป ต่อมาท่านได้รับหน้าที่สำคัญ คืออุปัฏฐากติดตามพระอาจารย์มั่นอย่างใกล้ชิดเป็นเวลาถึงสามปี
ในพรรษาที่ ๑๒ หลวงปู่เจี๊ยะได้เข้าถึงธรรมขั้นสูงสุด ขณะบำเพ็ญเพียรอยู่ที่เชิงเขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ในตอนนั้นท่านอาพาธเป็นไข้มาลาเรีย ท่านก็อดอาหารภาวนาสู้อยู่ พอท่านสังเกตอาการจิตและลองวางความคิด “หยุดความค้น” จิตของท่านก็วางสังขารโลกในพรึ่บเดียว จิตเป็นอิสระจากทุกๆ สิ่ง คว่ำอวิชชาอันเป็นเหตุแห่งการเกิดจนหมดสิ้น เรียกว่าเป็นผู้ฝึกฝนจิตใจตนจนบรรลุถึงเป้าหมายคือความพ้นทุกข์แล้ว
ตลอดชีวิตในช่วงที่ท่านครองสมณเพศ หลวงปู่เจี๊ยะได้บำเพ็ญกิจน้อยใหญ่เพื่ออำนวยประโยชน์ต่องานพระพุทธศาสนา ท่านเป็นผู้นำในการสร้างวัดมากมาย อาทิ วัดเขาแก้ว อําเภอเมือง วัดบ้านสถานีกสิกรรม อําเภอพลิ้ว จังหวัดจันทบุรี และวัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม อําเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี รวมทั้งได้สร้างภูริทัตตเจดีย์ ซึ่งบรรจุพระทันตธาตุของพระอาจารย์มั่น เพื่อบูชาพระคุณขององค์ท่านอีกด้วย หลวงปู่เจี๊ยะมักจะอบรมสั่งสอนธรรมให้แก่ญาติโยมอยู่เสมอ แม้ในช่วงบั้นปลายของชีวิตที่ถูกอาการอาพาธหนักรุมเร้า ท่านก็ยังใช้ธาตุขันธ์เป็นคติเตือนใจให้บรรดาศิษย์ไม่ประมาทในชีวิต ให้เชื่อกรรมและหมั่นสะสมบุญไว้ด้วยความไม่ประมาท