สวนพุทธธรรม ปัญญจิตตธัมโม
Personal menu
Search

แยกกายแยกจิต

 

๑) เฝ้าดูความรู้สึกตัวทั่วพร้อม หรือเฝ้าดูลมหายใจ หรือพุทโธก็ได้
แต่ให้เอาอันใดอันหนึ่ง เพื่อให้จิตแยกออกจากกาย

๒) การแยกออกจากกายไม่ต้องทำอะไร มันจะแยกเอง เพียงแต่เราเอาสติประคองจิตที่รับรู้ ว่ากำลังเฝ้าดูกายของเรา ความรู้สึกของเรา แค่นี้พอ อย่าวิ่งไปตามความคิด อย่าวิ่งไปตามความเจ็บปวด อย่าวิ่งไปตามลมหายใจ อย่าวิ่งไปตามเสียงใดๆ ทั้งสิ้น ให้มีสติระลึกรู้ต่อจิตที่กำลังรับรู้ ต่อตัวเอง เรียกว่าความรู้สึกตัวของจิต เฝ้าดูความรู้สึกตัวของกาย เรียกว่า หนึ่งต่อหนึ่ง แค่นี้พอ

 ๓) จิตของเราเมื่อมันไม่ไปรวมกับอะไร มันจะค่อยๆ แยกตัวของมันออกมาเองโดยธรรมชาติ เพราะมันไม่มีงานทำในกาย มันก็จะแยกออกมาตั้งที่ฐานของมันเอง

 ๔) เมื่อเรานั่งลง เราให้หรี่ตาลง อย่าหลับตา ดูความรู้สึกตัวทั่วพร้อม แยกจิตที่รับรู้ว่ากำลังเฝ้าดูความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ตรงนั้นมันยังไม่แยกหรอก แต่มันรับรู้อยู่ในกาย

 รับรู้อันแรกก็คือ คิดว่ากำลังจะดูความรู้สึกตัวทั่วพร้อม และรับรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ที่จิต เนื่องจากความรู้สึกตัวของเราไม่เคลื่อนไหว จิตที่รับรู้มันก็ไม่เคลื่อนไหวด้วย ก็เอาสติระลึกรู้คุมจิตของเราตั้งอยู่ที่ฐานรับรู้ รับรู้อยู่ที่ฐานรับรู้แล้วดูความรู้สึกตัวสบายๆ อย่าไปเกร็ง

๕) เมื่อเรานั่ง จะนั่งบนเก้าอี้ หรือนั่งกับพื้นก็ได้ ถ้านั่งเก้าอี้ นั่งแล้วปล่อยน้ำหนักตัวทั้งหมดลงให้เก้าอี้เป็นตัวรับ หายใจลึกๆ สัก ๔-๕ ครั้ง แล้วผ่อนน้ำหนักลง ปล่อยน้ำหนักลงไปกับเก้าอี้ เหมือนกายของเราไม่มีน้ำหนัก และมีสติระลึกรู้ ประคองจิตที่รับรู้ว่ากำลังเฝ้าดูกาย ดูความรู้สึกตัว หรือเฝ้าดูพุทโธ อย่างอื่นไม่เอา ดูลมหายใจที่เข้าออก แต่อย่าเข้าไปในลม ใครจะเอาฐานไหน
ก็ได้ นั่งไปดูไป

๖) แยกดูว่าอะไรความรู้สึกตัวของจิต อะไรคือความรู้สึกตัวของกาย ต้องการ ๒ อย่างนี้ ความรู้สึกตัวของกายอยู่ที่กาย ความรู้สึกตัวของจิตอยู่ที่จิต
มีสติระลึกรู้ประคับประคองไว้ ขอให้ฝึกอย่างนี้ นั่งเฝ้าดูมัน

๗) เมื่อความคิดปรากฏขึ้น รู้ว่าความคิดเกิดขึ้น ก็ไม่ไปตามความคิดนั้น ดูความรู้สึกตัวต่อไป เมื่อความเจ็บปวดเกิดขึ้น ความง่วงเกิดขึ้น พยายามอย่าเข้าไปในความเจ็บปวด ให้ดูความรู้สึกตัวต่อไป รักษาอยู่ที่รู้ รู้สึกของร่างกาย รู้สึกของจิตของเราที่รู้สึกด้วยตัวมันเอง มันจะค่อยๆ หดตัวของมันเข้าไปที่ฐานเองโดยธรรมชาติ

๘) เราฝึกเพื่อต้องการ ๓ อย่าง คือ (๑) สติ ระลึกรู้  (๒) ความรู้สึกตัวของจิต (๓) เฝ้าดูสิ่งที่เคลื่อนไหวภายในจิต เราต้องการตรงนี้ สิ่งนี้มีประโยชน์มาก

สมมติว่าเราต้องตายวันนี้ งานแรก คือความสำเร็จในการแยกจิตออกจากกาย ถ้าเกิดวิกฤติ จิตของเราจะแยกออกมาโดยอัตโนมัติ และสติจะชัดที่สุด และสติตัวนี้ จะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในเวลานั้น ความรู้สึกตัวของจิตเป็น
สิ่งสำคัญที่เราต้องควบคุม ไม่ให้มันเข้าไปในความคิด ถ้าเข้าในความคิดเมื่อไร มันจะกลายเป็นภพใหม่ทันที

ภพใหม่ คือทันทีที่เราตาย เราจะเข้าสู่ภพใหม่ทันที จึงต้องฝึกจิตไม่ให้เข้าไปในความคิด ไม่ให้เข้าไปในความเจ็บ ถ้าเข้าไปในความเจ็บ ก็จะเข้าสู่ภพใหม่เหมือนกัน การฝึกของเรานี้เป็นการฝึกที่ตรงที่สุดแล้ว

ฝึกสติ ฝึกการระลึกรู้ ฝึกการเฝ้าดูความรู้สึกตัว ก็มันเป็นธรรมดาสำหรับผู้ฝึกใหม่ มันต้องยื้อยุดฉุดกระชากกันเป็นธรรมดา เพราะธรรมชาติของเราทุกคนเคยชินกับการให้จิตกับความคิดเป็นอันเดียวกัน ตอนนี้เรากำลังฝึกให้จิตกับความคิดแยกออกจากกัน เราเคยชินกับการที่จิตกับกายเป็นอันเดียวกัน จิตกับความเจ็บปวดเป็นอันเดียวกัน ตอนนี้กำลังฝึกให้จิตกับความเจ็บปวดในร่างกายแยกออกจากกัน

ความเจ็บปวดนี้สำคัญมาก เมื่อจิตของเราแยกออกจากความเจ็บปวดแล้ว ในวาระนั้นจิตของเราจะไม่เจ็บปวดเลย มันจะตื่นรู้ และรับรู้ความเจ็บปวดของร่างกาย แต่ตัวจิตจะไม่เจ็บปวดเลย เราจะไปอย่างสบายๆ ไม่ได้แบกความเจ็บไปด้วย อันที่สำคัญคือ เมื่อจิตเราแยกออกจากกายไปแล้ว เราก็อยู่ที่จิต
เราไม่ได้ตายไปพร้อมกับกายนี้ มันมีความสำคัญละเอียดไปตามมรรคตามผล ซึ่งพวกเราต้องค่อยๆ ศึกษาไป

 สติที่พวกเราพยายามฝึกตรงนี้ ตัวจิตที่พวกเราพยายามฝึกให้มันแยกออกมารับรู้ความรู้สึกของตัวมันเอง เฝ้าดูความรู้สึกตัวของกาย และไม่ให้จิตที่มีความรู้สึกตัวนี้ไปรวมกับความคิดใดๆ ไปรวมกับความเจ็บปวดใดๆ ในร่างกาย ไปรวมกับร่างกาย คือกลับไปร่างกายอีก นั่นคือหัวใจสำคัญของการฝึก