เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิได้มากพอ ผลที่ตามมาก็คือ เกิดการแยกตัวออกของจิต และ อาการของขันธ์
ซึ่งในสภาวะตอนนี้ ในวงการภาวนาจะเรียกว่า สภาวะแห่งการเป็นของคู่ คือ มีผู้รู้ และ สิ่งที่ถูกรู้ ในบรรดาสิ่งที่ถูกรู้นั้น คือ อาการต่างๆ ในขันธ์ ๕
จิตเหมือนฟองไข่ และในคำสอนก็บอกว่า ให้ทำลายจิตทิ้งเสีย
เมื่อจิตถูกทำลายทิ้ง สภาวะของคู่ก็จะสลายไป กลายเป็นสภาวะใหม่ ที่เรียกว่า ความเป็นหนึ่ง ขึ้นมาแทน
ในความเป็นจริง ไม่มีใครทำลายจิตได้ แม้แต่ตัวนักภาวนาเอง
แต่การที่จิตเกิดการแตกสลายออกไปนั้น เกิดจากที่จิตที่บ่มเพาะปัญญา ที่จิตไปเห็นจิตที่แปรเปลี่ยนไปมาเพราะมีการสร้างขันธ์ขึ้นของจิต และเห็นสภาวะแห่งจิตที่หยุดสร้างขันธ์
ปัญญานี้แหละที่จะทำลายจิตให้เป็น จิตหนึ่ง
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
ถือกำเนิด ณ บ้านปราสาท ตำบลเฉนียง อำเภอเมืองสุรินทร์ เมื่อวันอังคารแรม 2 ค่ำ เดือน 11 ปีกุน ตรงกับวันอังคารที่ 4 ตุลาคม 2430 เป็นปีที่ 20 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โยมบิดาของท่านชื่อ นายแดง โยมมารดาชื่อ นางเงิม นามสกุล ดีมาก หลวงปู่มีพี่น้อง 5 คน คนแรกเป็นหญิงชื่อ กลิ้ง คนที่สองคือตัวหลวงปู่เอง ชื่อ ดูลย์ คนที่สามเป็นชายชื่อ เคน คนที่สี่และห้าเป็นหญิงชื่อ รัตน์ และ ทอง พี่น้องทั้ง 4 คนของท่านมีชีวิตจนถึงวัยชรา และทุกคนเสียชีวิตก่อนที่จะมีอายุถึง 70 ปี มีเพียงหลวงปู่เท่านั้นที่ดำรงอายุขัยอยู่จนถึง 96 ปี
อุปสมบท ณ วัดจุมพลสุทธาวาส อ. เมือง จ. สุรินทร์ ในพ.ศ. 2453 โดยมีพระครูวิมลศีลพรต เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อแรกบวช หลวงปู่ได้พากเพียรศึกษาการปฏิบัติกรรมฐานอย่างเคร่งครัด มีความวิริยะ อุตสาหะอย่างแรงกล้า จนล่วงเข้าพรรษาที่ 6 หลวงปู่จึงหันมาศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดสุปัฏนาราม จังหวัดอุบลราชธานี สอบได้นักธรรมชั้นตรีเป็นรุ่นแรก ของจังหวัดอุบลราชธานี และได้ศึกษาบาลีไวยากรณ์ (มูลกัจจายน์) จนสามารถแปลพระธรรมบทได้ เนื่องจากวัดสุปัฏนาราม เป็นวัดที่อยู่ในสังกัดธรรมยุตินิกาย หลวงปู่จึงได้ขอญัตติเป็นธรรมยุตินิกายในพ.ศ. 2461 ณ วัดสุปัฏนารามโดยมีพระมหารัฐ เป็นพระอุปัชฌาย์ และในพรรษาต่อมาหลวงปู่ได้มีโอกาสพบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เมื่อได้ฟังธรรมเพียงครั้งเดียว จากพระอาจารย์มั่น ก็เกิดความอัศจรรย์ใจยิ่ง จึงได้เลิกศึกษาพระปริยัติแล้วออกธุดงค์ตามพระอาจารย์มั่น ไปยังที่ต่าง ๆ หลายแห่ง จึงนับได้ว่าหลวงปู่เป็นศิษย์พระอาจารย์มั่นในสมัยแรก ต่อมาเจ้าคณะมณฑลนครราชสีมาขอให้หลวงปู่กลับจังหวัดสุรินทร์ เพื่อบูรณะวัดบูรพาราม หลวงปู่จึงจำต้องระงับกิจธุดงค์และเริ่มงานบูรณะตามที่ได้รับมอบหมาย หลวงปู่ได้อุทิศชีวิต เพื่อพระศาสนาอย่างแท้จริง จนได้รับการยอมรับจากสาธุชนทั้งหลาย ว่าเป็นอริยสงฆ์ที่หาได้ยากยิ่งองค์หนึ่ง
ผู้ปฏิบัติที่แท้จริงนั้น ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงชาติหน้า-ชาติหลัง หรือ นรก-สวรรค์อะไรก็ได้ ขอให้ตั้งใจปฏิบัติให้ตรง ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างแน่วแน่ก็พอ ถ้าสวรรค์มีจริงถึง 16 ชั้น ตามตำรา ผู้ปฏิบัติดีแล้ว ก็ย่อมได้เลื่อนฐานะของตนเองตามลำดับ หรือถ้า สวรรค์-นิพพานไม่มีเลย ผู้ปฏิบัติดีในขณะนี้ย่อมไม่ไร้ประโยชน์ ย่อมอยู่เป็นสุข เป็นมนุษย์ชั้นเลิศ
จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย
ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต เป็นนิโรธ
คิดเท่าไรๆ ก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดได้จึงรู้ แต่ต้องอาศัยความคิดนั้นแหละจึงรู้
หลวงปู่ท่านมรณภาพลงด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2526 เวลา 04.13 น. รวมสิริอายุได้ 96 ปี 26 วัน พรรษาที่ 74 ทรงรับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ พระราชทานพวงมาลา,น้ำหลวงสรงศพ,พระพิธีธรรม,โกศโถ ฉัตรเบญจา 5ชั้นตั้งประดับ
และเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปยังท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อประทับเครื่องบินพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ พระราชวุฒาจารย์ (ดูลย์ อตุโล) อดีตเจ้าอาวาสวัดบูรพาราม ณ เมรุชั่วคราววนอุทยานแห่งชาติพนมสวาย ตำบลนาบัว อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เมื่อได้เวลาอันสมควรแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินขึ้นเมรุทรงทอดผ้าไตรที่โกศแล้วจุดเพลิงพระราชทาน หลังจากนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงจุดเพลิงพระราชทานเพลิงศพแล้วเสด็จลงจากเมรุ ประทับ ณ มุขพลับพลาพิธี สมควรแก่เวลาจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับ