จิตนี้ขันธ์ห้ามันหุ้มอยู่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ตัววิญญาณมันหุ้มจิตอยู่นะ มันก็หุ้มออกมา
สัญญามันก็หุ้มจิตอยู่นั่นแหละ สัญญามันรู้รอบทิศ เรามีหูมีตารอบทิศนะ รูป เสียง กลิ่น รส ก็รู้ทิศอยู่ เนี่ยเข้าใจนะ ความจำก็ออกมา
เวทนา สุข ทุกข์ มันก็รอบจิตเราอยู่ คือขันธ์ห้านี่แหละ
เข้าใจนะแต่ว่าวิญญาณนี่ มาทางนี้มันมีความรู้สึกรอบขันธ์ห้าอยู่ ทีนี้
ถ้าเราจะรับทาน มันก็อยู่ที่จิต ถ้าเราจะรับศีล มันก็อยู่ที่จิต
จิตอันเดียวนะ พุทโธ ๆๆ รู้จิตเรานะ ให้ศึกษาจิต
หลวงปู่สังข์ สงฺกิจฺโจ
นามเดิม สังข์ นามสกุล คะลีล้วน ท่านเกิดเมื่อวันพุธที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๓ ตรงกับขึ้น ๒ คำ เดือน ๑๑ ปีมะเมีย ร.ศ. ๑๔๙ ท่านเกิดที่บ้านข่า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม เป็นบุตรของนายเฮ้า คะลีล้วน และนางลับ อุระมา ซึ่งได้รับหน้าที่เป็นผู้ใหญ่บ้าน มีอายุได้ ๕๕ ปี ได้ถึงแก่กรรมเพราะถูกงูกัด เมื่อขณะท่านกำลังเรียนหนังสืออยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓
ท่านมีพี่น้องต่างมารดา ๑ คน มีพี่ชายบุญธรรม ๑ คน มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๔ คน ท่านเป็นบุตรคนโต ท่านได้เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ เมื่ออายุได้ ๑๒ ปี จากนั้นใช้ชีวิตเป็นวัยรุ่นได้แค่ ๖ ปี
อุปนิสัย
ด้วยอุปนิสัยแต่แรกของท่าน เป็นคนอดทนสูง หนักแน่น ทนได้ ไม่บ่นให้ใครได้ยิน เก็บตัว ท่านเล่าว่า “...เราเกิดปีม้า เป็นม้าสาธารณ์ คือม้าอาภัพ พ่อตายแต่อายุยังน้อย อาศัยอยู่กับแม่กับตายาย พี่น้องหลายคนอยู่กินลำบาก กินแต่ปลา เราบอกกับแม่กับยายว่า เราจะต้องหนีไปอยู่ที่อื่น ไม่ชอบใจอยู่ที่นี่ เพราะทำบาปกับปลา หาปลามาทำปลาร้า มาทำปลาส้ม ปีต่อปีมีแต่เอาชีวิตผู้อื่น ตาบอกว่า เป็นคนใจอ่อน สงสารคนอื่นง่าย เห็นใจคนเร็ว ไปอยู่ที่ไหนให้ระวังจะถูกคนเอารัดเอาเปรียบ ถ้าจะบวชจะดีมาก นิสัยเราก็เป็นเช่นนั้น...
“...เราสมัยเด็กนั้น ทุกข์ยากลำบาก ไร้ที่พักพิง ระหกระเหิน ไปกับญาติผู้ใหญ่ เรียนค้าขายก็ไม่พอเป็นไปได้ ทำอะไรก็ต้องพึ่งตนเอง พอเราอายุได้ ๑๗-๑๘ ปี จึงชวนหมู่เพื่อนรุ่นเดียวกัน ๔ คนไปบวชเณร...”
“...ความทุกข์มันเป็นเพื่อนเรามาแต่เกิด ลำบากตรากตรำ ไปทำงานเป็นกุลีแบกกระสอบข้าวก็ถูกโกงค่าแรง โทษทุกข์ผสมตลอด หาเงินได้น้อย เหตุทุกข์พลอยวิบาก ภัยโหดโทษร้าย ดีที่มีน้าชายคอยสอนให้นิ่ง ให้อดทน จึงพอประมาณ แต่พอได้เพื่อนไปบวช เราก็ไปกับเขาทันที...”
การศึกษา
การศึกษาทางคดีโลก
ท่านเรียนจบชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ ๔ ซึ่งถือว่าสูงสุดในสมัยนั้นในโรงเรียนบ้านข่า ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำหมู่บ้าน อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม
การศึกษาทางคดีธรรม
- สอบนักธรรมชั้นตรีได้ในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ณ สนามสอบวัดศรีชมชื่น อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นวัดสังกัดมหานิกาย
- สอบนักธรรมชั้นโทได้ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ณ สนามสอบวัดศรีชมชื่น อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม
- สอบนักธรรมชั้นเอกได้ในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ณ วัดโพธิ์ชัย อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ในสำนักของพระอุปัชฌาย์
ชีวิตฆราวาส
หลวงปู่สังข์ สฺงกิจฺโจ ท่านเกิดในตระกูลของผู้นำหมู่บ้าน ซึ่งถือว่ามีฐานะดีพอสมควรในหมู่บ้าน แต่อาชีพหลักก็คือทำนาทำสวนเป็นหลักนั่นเอง
หลวงปู่ในครั้งวัยเยาว์นั้น มีญาติผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่าท่านจะร้องไห้ต้องการไฟสำหรับให้แสงสว่าง เช่น ตะเกียง ไฟกระบองจุด ท่านจะเป็นผู้ที่กลัวความมืด จึงร้องหาความสว่างจากไฟ ซึ่งเป็น
ปริศนาธรรมให้ทราบภายหลังว่า ความมืดที่ท่านกลัว นั้นคืออวิชชา ความไม่รู้จริงในอริยสัจ ๔ ถึงทำให้ได้มาเกิดอีกครั้ง สิ่งที่ท่านร้องแสวงหาไฟให้ความสว่างทำลายความมืดก็คือปัญญานั่นเอง ดังนั้น เด็กชายสังข์จึงมีนิสัยกรรมฐานมาตั้งแต่เด็ก พอเรียนหนังสือจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จึงช่วยงานทางครอบครัว ทำสวน ทำนา แต่ทางครอบครัวนั้นเป็นตระกูลที่เข้าวัดฟังธรรมตลอด จึงทำให้ท่านมีจิตใจโน้มเอียงไปในบรรพชาตลอด เมื่อบิดาเสียชีวิต ท่านจึงกลับมาอยู่กับครอบครัวทางโยมมารดา และเมื่ออายุย่างเข้าวัย ๑๘ ปี จึงได้ตัดสินใจออกบวชตามหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม
บรรพชาบวชเณร
ท่านบรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุย่างเข้าปีที่ ๑๘ ณ วัดศรีเทพประดิษฐาราม อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม โดยมีพระสารภาณมุนี (หลวงปู่จันทร์ เขมิโย) เป็นพระอุปัชฌาย์ ที่สุดได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ พระเทพสิทธาจารย์
เข้าฟังธรรมะหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
"...เราได้เข้ากราบหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต กับพระอาจารย์บุญส่ง โสปโก หลังเราบวชณรแล้วก็กลับมาบ้านอยู่กับพรรษาแรก ออกพรรษาก็เข้ากราบหลวงปูมั่น ที่บ้านหนองผือ ซึ่งในวันนั้นมีท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เป็นพระผู้ใหญ่ ร่วมฟังธรรมด้วย หลวงปู่มั่นท่านเทศน์เรื่องเนกขัมมะและเสขิยวัตรซึ่งเราก็ไม่เข้าใจเท่าใดนัก กลัวก็กลัว สายตาท่านคมกล้าแทงทะลุ
หัวใจพระ
หัวใจเณร
ตอนหลังเรามาภาวนาย้อนทบทวนธรรมะคำสอนของหลวงปู่มั่น จึงรู้ว่า ท่านมุ่งสอนเรา “ให้มั่นในศีลของเณร เสขิยวัตรของเณร และให้รู้ในคุณของเนกขัมมะ ให้พากันแสวงหาอาวุธ คือปัญญา เพื่อเป็นเครื่องมือประหารกิเลสให้หมดไป เพื่อจะได้หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งสิ้น"
เรียนนักธรรม
เรียนให้เกิดศรัทธา ให้สำนึกในความสำคัญของพระศาสนา ให้ได้ความรู้ความเข้าใจซาบซึ้งในคุณของพระรัตนตรัย ได้รู้หลักธรรมที่ถูกต้อง ได้หลักคิด หลักครวญ และได้หลักปฏิบัติตนของนักบวช เรียนพุทธสุภาษิต เรียนธรรมวิภาค เรียนพุทธประวัติ เรียนวินัยมุข เรียนกระทู้ เรียนศาสนพิธี
ท่านเรียนนักธรรมอยู่ ๓ ปี พร้อมหมู่เพื่อน แต่ต้องไปสอบที่สำนักเรียนวัดศรีชมชื่น เป็นวัดฝ่ายมหานิกาย
อุปสมบทบวชพระ
เมื่อท่านอายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ณ พัทธสีมาวัดป่าบ้านสามผงดงพะเนาว์ อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก เป็นพระอุปัชฌาย์ พระทัศนู สุภโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์บุญส่ง โสปโก เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “สงฺกิจโจ” แปลว่า เป็นผู้มีกิจธุระอันพึงทำดีแล้ว
ถือนิสัย ๕ ปี ตามพระวินัยบัญญัติ
“...เราอยู่ในสำนักของพระอุปัชฌาย์ ๔ ปี เอาใจใส่ดูแลอุปัฏฐากท่านในทุกกิจ พึ่งพิงท่าน ฝึกนิสัย ฝึกอุปนิสัย ฝึกจรรยามารยาท ศึกษาในท่าน รักษาน้ำใจของท่าน ช่วยงานของท่าน เคารพในท่าน
ที่สุดเราได้ทำหน้าที่เป็นครูสอนนักธรรมช่วยพระอุปัชฌายะ และได้ฝึกเป็นพระคู่สวดด้วย..”
ร่วมงานประชุมเพลิงหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
“...เราจำได้ว่า ในปีที่เราบวชพระนั้น เราได้ติดตามหลวงปู่ตื้อกับหมู่คณะ มีท่านอาจารย์บุญส่ง โสปโก ไปช่วยงานเตรียมงานเมรุหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้มีโอกาสกราบคารวะครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่หลายรูป”
ผู้คนหลั่งไหลกันมามาก มีรถยนต์ไม่กี่คัน มีแต่หมู่เกวียนเป็นหมู่คณะ เขาหุงหาอาหารการกินกันเอง บรรทุกของอยู่ของกินมาทำอาหารถวายใส่บาตรพระเณร พระเณรหนุ่มน้อยช่วยกันทำปะรำ ทำผาม ทำตูบ ไปขนเอาฟางมาปูรอบๆ บริเวณนั้น ที่อัศจรรย์ใจยิ่งนั้น ผู้คนมาก พระเณรมาก ไม่อึกทึก ไม่วุ่นวาย ไม่มีขโจรขโมย ไม่มีของหาย ไม่มีการแก่งแย่งกัน
ลำบากบ้างก็เรื่องน้ำใช้ เราติดตามหลวงตื้อ อจลธมฺโม ไปกับคณะของหลวงปู่เกิ่ง อธิมุตฺตโก หลวงปูสีลา อิสฺโร
ของอยู่ของฉันมากมาย ไม่มีขาดแคลน คนเมืองสกลนคร แบ่งกันไปทำเป็นจังหันแล้วนำกลับมาถวายพระเณร แม่ขาวนางชี เป็นบุญที่ยิ่งใหญ่หมดจดบริสุทธิ์จริงๆเราเป็นพระน้อยหนุ่มบวชใหม่ ก็ปักใจมั่นว่า “เราจะบวชไปจนตายคาผ้าเหลืองนี้ให้ได้”
ติดตามหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม
ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ปลายปีหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม กลับบ้านข่า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม จึงได้กราบท่าน แล้วได้ติดตามท่านขึ้นเชียงใหม่
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ท่านเป็นญาติฝ่ายยาย คือปู่ของหลวงปูตื้อเป็นพี่ชายของคุณยายของท่าน ขึ้นเชียงใหม่ครั้งแรกมีพระ ๓ รูป มีโยม ๒ คน ถึงเชียงใหม่ เข้าพักวัดสันติธรรม จึงทราบว่าหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าดาราภิรมย์ ซึ่งก่อนนั้นหลวงปู่ตื้อไม่เคยบอกว่าท่านเป็นเจ้าอาวาสวัด
ออกจากวัดสันติธรรมแล้วก็ไปอยู่วัดป่าดาราภิรมย์ แล้วก็พากันกลับบ้านข่า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม เพราะพระอุปัชฌาย์อาพาธ จึงต้องกลับไปทำหน้าที่อุปัฏฐากไข้
กลับขึ้นเชียงใหม่
ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ เดินทางจากบ้านข่า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ถึงจังหวัดเชียงใหม่ เข้ากราบรายงานตัวกับเจ้าคุณขันธ์ ขนฺติโก หรือพระธรรมดิลก และได้พบปะกับหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร หลวงปู่จาม มหาปุญฺโญ ในงานบุญสลากภัตวัดเจดีย์หลวง จากนั้นก็ไปวัดป่าดาราภิรมย์ อำเภอแม่ริม และได้พบพระอาจารย์กาวงค์ โอทาตวณฺโณ พระอาจารย์ไท านุตตโม ซึ่งหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม บอกว่า “อยู่ให้คุ้นเคยอากาศ อาหาร และการเป็นอยู่ของคนเมืองเชียงใหม่ก่อนนะ”
อยู่จำพรรษาในระหว่างพรรษา พอออกพรรษาก็เที่ยวธุดงค์ไปทั่วเชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง ไปกับพระอาจารย์ไท านุตฺตโม ได้พบปะพระอาจารย์มหาทองอินทร์ กุสลจิตฺโต ที่วัดถ้ำผาจรุย อำเภอป่าแดด จังหวัดเชียงราย พออยู่เชียงใหม่หลายปีก็คิดถึงบ้าน คิดถึงอีสาน
กลับอีสานเยี่ยมโยมแม่
ทราบข่าวว่าโยมแม่ป่วย จึงกลับอีสาน กลับรถไฟ ต่อรถไฟไปลงจังหวัดหนองคาย ไปจำพรรษาที่วัดอรัญญวาสี อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ได้พบปะกับพระอาจารย์คำพอง ติสฺโส พูดคุยถูกใจ ถูกธรรมกันดี
ชวนกันไปบ้านข่า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม แล้วกลับไปจำพรรษาที่เดิม ออกพรรษาโยมผู้ใหญ่บ้านท่าโคมดำ ตำบลบ้านหม้อ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย มานิมนต์ไปอยู่จำพรรษา
วันรวมกันลงอุโบสถสังฆกรรมก็ไปรวมกันที่วัดหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ ฤดูกาลถวายกฐินก็ไปรับกฐินที่วัดหินหมากเป้งกับหลวงปู่เทสก์ เทสฺรงฺสี ช่วยกันเย็บผ้าเพื่อแจกจ่ายพระเณรให้ทั่วถึงกัน ผ้าและบริวารกฐินกองเป็นภูเขา
มีบางฤดูแล้งก็ข้ามไปฝั่งประเทศลาว เดินข้ามฟากไป เพียงแค่แจ้งบอกทางการฝั่งไทย พอฝั่งลาวก็บอกเจ้าหน้าที่ด่านก็ไปได้ทั่วไป สะดวกมาก ไปทั่วเวียงจันทน์ เที่ยวไปในวัดเก่าแก่ ดูวัดวาอาราม และขอพักกับพระเณรที่วัดสีสะเกตุ วัดพระแก้ว วัดป่าสัก วัดหัวสนามบิน
คุ้นเคยกับพระฝั่งลาวหลายท่าน แต่ความเป็นพระของท่านเหล่านั้นไม่เคร่งเท่าใดนัก ทางราชการลาว-ฝรั่งเศส ก็มิได้ส่งเสริมให้เด่นงามอะไร คือจะบวชก็บวชไป ทั้งอาหารบิณฑบาตก็ขาดแคลน จึงไม่อยู่นาน ข้ามโขงกลับไทย
ผจญผีพรายแก่งอาฮง
ข้ามโขงมาพักรุกขมูลที่แก่งอาฮง “...คราวนั้นนั่งเรือข้ามจากฝั่งลาวมาฝั่งไทย เรือเบนหัวผิดร่องน้ำ ทำให้เรือไถลไปตามสายน้ำ ไปติดในวังเวินวังวนน้ำ หมุนวนอยู่นาน คนพายเรือหมดปัญญาจะบังคับเรือ มองหาเรือลำอื่นมาช่วยก็ไม่มี ริ้วสายน้ำเหมือนกับเส้นผมผีพราย จึงนึกถึงคาถาบท อปฺปมาโณ พุทฺโธ... พากันสวดมนต์พร้อมกัน เรือก็เบาขึ้น คนพายก็จ้วงพายเสือกเรือออกพ้นวังวนน้ำบิดคอไก่ นึกมาทุกวันนี้เป็นอัศจรรย์แท้..."
ท่องธุดงค์
บางปีท่านออกจากวัดอรัญญวิเวก เดินเท้าไปอำเภอพังโคน ผ่านดงป่าหนาทึบอำเภอวานรนิวาส ไปสกลนคร ไปถึงนครพนม หรือบางปีบางคราวก็วกไปทางอุดรธานี เข้าพักวัดโพธิสมภรณ์ แล้วไปต่อที่อำเภอบ้านผือ ไปภาวนาที่พระพุทธบาทบัวบก เพื่อตามรอยธุดงค์ของหลวงปู่ดื้อ อจลธมฺโม
บางปีท่านเดินเท้าเลาะเลียบแม่น้ำโขงจากอำเภอท่าบ่อ อำเภอบ้านแพง อำเภอศรีสงคราม อำเภอท่าอุเทน ไปกราบพระธาตุพนม
คราวหนึ่งเดินทางจากสกลนคร กลับไปเยี่ยมญาติพี่น้อง เพื่อจะไปบอกเขาว่าจะขึ้นเชียงใหม่ เดินทางผ่านป่าโคกในฤดูแล้ง เดินพลาดไปหินแหลมทิ่มแทงเท้าเป็นบาดแผลเหวอะหวะ พบสองตายายพ่อค้าหาบของเต็มตะกร้า เหงื่ออาบท่วมตัว “ครูบา ทุกข์ขนาดนี้ยังจะเดินต่อไปอยู่บ่” หลวงปู่มองดูสองตายายด้วยความนิ่ง แล้วยิ้ม นึกในใจว่า “โยมนี้ก็ทุกข์หนักเช่นกัน”
หลวงปู่เดินธุดงค์ไปทุกภาคของไทย ใต้สุดถึงเพชรบุรี ภาคตะวันตก ภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคกลาง กราบหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ
หลวงปู่ได้เข้ากราบคารวะหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ครั้งแรกที่วัดป่าห้วยน้ำริน ต่อจากนั้นเมื่อหลวงปู่แหวนย้ายมาพำนักอยู่วัดอรัญญวิเวก บ้านปง อำเภอแม่แตง ซึ่งไม่ไกลจากวัดป่าอาจารย์ตื้อมากนัก เมื่อมีโอกาสท่านก็ปลีกตัวไปกราบคารวะอุปัฏฐากปรึกษาข้ออรรถ ข้อธรรม แนวทางการปฏิบัติเสมอ เพราะหลวงปู่แหวนนั้นท่านว่ามีวิชาความรู้ทางธรรมละเอียดลึกซึ้งมาก ถึงแม้จะเทศน์ไม่เก่ง ซึ่งการแสวงหาครูบาอาจารย์ชั้นยอดเป็นหลักในการพัฒนาตนเองนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าไม่งั้นก็จะไปถึงเป้าหมายไม่ได้ หลวงปู่ท่านจึงมีหลวงปู่แหวนกับหลวงปู่ตื้อเป็นหลักชัย
ทุกครั้งที่หลวงปู่ไปกราบคารวะหลวงปู่แหวน หลวงปู่แหวนท่านจะพูดกับท่านเสมอว่า “ท่านอาญาธรรมมาแล้วบ่” ซึ่งขณะนั้นท่านยังมีอายุพรรษาไม่มาก ซึ่งคำพูดดังกล่าวนั้นเสมือนปริศนาธรรม ให้รู้ว่าในอนาคตพระภิกษุรูปนี้จะมีความเจริญในธรรมเป็นที่พึ่งของพุทธบริษัท ทั้งบรรพชิตและฆราวาสอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นการพิสูจน์ให้เห็นเป็นประจักษ์แล้วในปัจจุบันดังคำโบราณได้กล่าวไว้ว่า Wกาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์คน อัฏฐิธาตุเป็นเครื่องเปลื้องกังวล” ดังนี้แล
มาอยู่วัดป่าอาจารย์ตื้อ
วัดป่าอาจารย์ตื้อ แต่เดิมเป็นป่าช้า มีสำนักสงฆ์เรียกเป็นวัดว่า วัดป่าสามัคคีธรรม หลวงปู่สังข์ สงฺกิจฺโจ มาอยู่จำพรรษากับหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้ช่วยงานพัฒนา บูรณะเสนาสนะ
เป็นเจ้าอาวาสวัด
หลวงปู่สังข์ สงฺกิจฺโจ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัด เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๔
สมณศักดิ์
“...เรื่องสมณศักดิ์และตำแหน่งการปกครองพระสังฆาธิการ เราไม่ปรารถนา เราไม่ประสงค์ เราไม่ขวนขวายแสวงหาอยู่แล้ว เป็นหลวงตาเฒ่าเฝ้าวัดแค่นี้ก็พอ” ทั้งนี้เพราะหลวงปู่ มีจิตฝักใฝ่ในทางกรรมฐานเป็นอุปนิสัยแต่เดิม ทั้งยังชอบอยู่อย่างสงบ มีกายวาจาใจสงบ ไม่คลุกคลีกับหมู่คณะเพราะรักในสมถะความสงบเท่านั้น และด้วยอุปนิสัยของหลวงปู่เป็นปัจเจกบุคคลดังนี้ หลวงปู่จาม มหาปุญฺโญได้พูดกับท่านเสมอๆ ว่า “สังข์พระปัจเจกปากทางแม่แตง” อันเป็นนัยยะบอกว่า หลวงปู่สังข์ สงฺกิจฺโจ มีนิสัยอุปนิสัยดั่งพระปัจเจกพุทธเจ้า คืออยู่สงบสง่าด้วยสมถะสันโดษ
อย่างไรก็ตามในธุระของสงฆ์ท่านก็มิลำเลิกหรือละเลยแต่อย่างใด ท่านได้อนุโลมรับภารธุระของทางการคณะสงฆ์ เพื่อประโยชน์ในการสืบทอดธุระทางพุทธศาสนา ดังนี้
ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๔ ได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าอาจารย์ตื้ออย่างเป็นทางการ
ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๕ รับสมณศักดิ์ที่พระครูวินัยธร สังข์ สงฺกิจฺโจ ฐานานุกรมในพระเดชพระคุณพระธรรมดิลก (จันทร์ กุสโล)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานสมณศักดิ์พระครูวินัยธร สังข์ สงฺกิจฺโจ เจ้าอาวาสวัดปาอาจารย์ตื้อ เป็นพระครูสัญญาบัตร ที่ พระครูภาวนาภิรัต ฝ่ายวิปัสสนาธุระ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๘
แม้ในกาลต่อมาศิษยานุศิษย์ฝ่ายพระปกครองจะขอตำแหน่งเลื่อนสมณศักดิ์ถวายหลวงปู่ ท่านได้บอกพร้อมปรามดุว่า “พอแล้ว เหมาะสมแล้ว แค่นี้พอ”
ดังนี้ท่านจึงงดงามด้วยทินนามว่า “พระครูภาวนาภิรัต” แปลว่า “เป็นผู้ยินดีในการภาวนา” ฉะนี้ ความงามในสมณศักดิ์ ในสมณสารูปของท่าน จึงเปล่งผกายด้วยสันตุฏฐิธรรมและอัปปิจฉธรรมอย่างยิ่ง
มรณภาพ
หลวงปู่สังข์ สงฺกิจฺโจ มรณภาพด้วยโรคชรา ด้วยอาการสงบเยี่ยงอริยะประเพณี เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ เวลา ๑๕.๐๐ น. ณ วัดป่าอาจารย์ตื้อ บ้านปากทาง ตำบลสันมหาพน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ สิริอายุ ๙๒ ปี พรรษา ๗๒