สวนพุทธธรรม ปัญญจิตตธัมโม
Close
  • Log in
สวนพุทธธรรม ปัญญจิตตธัมโม
Close
  • หน้าแรก
  • เกี่ยวกับ
    • Back
    • สวนพุทธธรรม
    • หลวงปู่เปลื้อง ปญฺญวนฺโต
    • หลวงปู่อูเตชนียะ
  • ครูบาอาจารย์
    • Back
    • พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
    • พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล
    • พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
    • ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต
    • หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
    • หลวงปู่ขาว อนาลโย
    • หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
    • หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี
    • หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร
    • หลวงปู่ชอบ ฐานสโม
    • หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ
    • หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม
    • หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร
    • หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
    • พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
    • หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท
    • หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ
    • พระอาจารย์วัน อุตฺตโม
    • หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
    • พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ
    • หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต
    • พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร
    • หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต
    • หลวงปู่จันทา ถาวโร
    • หลวงปู่บุญจันทร์ จนฺทวโร
    • หลวงปู่สังข์ สงฺกิจฺโจ
    • หลวงปู่ขาน ฐานวโร
    • หลวงปู่วิไลย์ เขมิโย
    • หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ
  • หลักการปฏิบัติ
    • Back
    • คติธรรมเตือนตน
    • ธรรมชาติของจิต ธรรมชาติของกาย
    • แยกกายแยกจิต
    • เดินจงกรม
    • มรรควิถี
    • อริยสัจจ์แห่งจิต
    • ธาตุสี่ ขันธ์ห้า
  • สื่อธรรมะ
    • Back
    • ห้องสมุดธรรมะ
  • ติดต่อเรา
Menu
  • หน้าแรก
  • เกี่ยวกับ
    • Back
    • สวนพุทธธรรม
    • หลวงปู่เปลื้อง ปญฺญวนฺโต
    • หลวงปู่อูเตชนียะ
  • ครูบาอาจารย์
    • Back
    • พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
    • พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล
    • พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
    • ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต
    • หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
    • หลวงปู่ขาว อนาลโย
    • หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
    • หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี
    • หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร
    • หลวงปู่ชอบ ฐานสโม
    • หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ
    • หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม
    • หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร
    • หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
    • พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
    • หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท
    • หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ
    • พระอาจารย์วัน อุตฺตโม
    • หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
    • พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ
    • หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต
    • พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร
    • หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต
    • หลวงปู่จันทา ถาวโร
    • หลวงปู่บุญจันทร์ จนฺทวโร
    • หลวงปู่สังข์ สงฺกิจฺโจ
    • หลวงปู่ขาน ฐานวโร
    • หลวงปู่วิไลย์ เขมิโย
    • หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ
  • หลักการปฏิบัติ
    • Back
    • คติธรรมเตือนตน
    • ธรรมชาติของจิต ธรรมชาติของกาย
    • แยกกายแยกจิต
    • เดินจงกรม
    • มรรควิถี
    • อริยสัจจ์แห่งจิต
    • ธาตุสี่ ขันธ์ห้า
  • สื่อธรรมะ
    • Back
    • ห้องสมุดธรรมะ
  • ติดต่อเรา
Close
Menu
Personal menu
สวนพุทธธรรม ปัญญจิตตธัมโม
Search
  • Home /
  • ครูบาอาจารย์ /
  • หลวงปู่เปลื้อง ปญฺญวนฺโต

หลวงปู่เปลื้อง ปญฺญวนฺโต

Picture of หลวงปู่เปลื้อง ปญฺญวนฺโต

หลวงปู่เปลื้อง ปญฺญวนฺโต

จิตอยู่ภายใน ใจอยู่ภายนอก

ตานอกคือใจ ตาในคือจิต

ตานอกวิจัย ตาในวิจิตร

ผู้มีความเห็นผิด เพราะไม่รู้จักจิตไม่รู้จักใจ

จงฝึกจิตบังคับจิต เพ่งพินิจ ไม่ยอมเบื่อ

ให้จิตเกิดความเชื่อ เหมือนเกลือ รักษาความเค็ม

จงเพ่งพินิจ ภายในร่าง อย่าให้ออกนอกกาย

จิตจะเกิดความคลาย เพราะเมื่อ ด้ายตามเข็ม

ผู้ไม่เชื่อพระตถาคต จะไม่รู้รส ของความเค็ม

เมื่อด้ายไม่เดินตามเข็ม รสความเค็ม ก็ไม่มี

หลวงปู่เปลื้อง ปญฺญวนฺโต

หลวงปูเปลื้อง ปัญญวันโต  วัดบางแก้วผดุงธรรม อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง นามเดิมชื่อ เปลื้อง มุสิกอุปถัมภ์ บิดาชื่อ อัน มารดาชื่อ เอี่ยม มุสิกอุปถัมภ์ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๖ ที่อำเภอปากพยูน จังหวัดพัทลุง ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดา ตามลำดับดังนี้

  • นายเอม มุสิกอุปถัมภ์ (ถึงแก่กรรม)
  • นายแช่ม มุสิกอุปถัมภ์ (ถึงแก่กรรม)
  • หลวงปูเปลื้อง ปญฺญวนฺโต (มุสิกอุปถัมภ์)
  • นางก้าน รัตนภูมี (ถึงแก่กรรม)

นามสกุล “มุสิกอุปถัมภ์” นั้น ตั้งมาจากเอาชื่อปู่มาเป็นนามสกุล ปู่ชื่อ “หนูกวด” เป็นลูกพระยาพัทลุงทองขาว นามสกุลเดิม ณ พัทลุง

โยมบิดาเป็นหมอแผนโบราณ เป็นนักเทศน์ นักแหล่ และสามารถเลียนเสียงสัตว์ต่างๆ ได้ เป็นคนดีมีศีลธรรม เป็นผู้มีคนนับถือมาก แต่สุขภาพไม่แข็งแรง เป็นโรคผอมแห้ง ถึงแก่กรรมเมื่ออายุได้เพียง ๔๘ ปี หลังโยมบิดาถึงแก่กรรม โยมมารดาเป็นโรคผอมแห้ง ไม่ยอมแต่งงานใหม่ เป็นคนพูดน้อย ปกติไม่พูด ไม่ตีลูก แต่ลูกเกรงใจเชื่อฟังทุกคน และถึงแก่กรรมเมื่ออายุ ๖๔ ปี

ตอนโยมมารดาตั้งครรภ์หลวงปู่ ได้นิมิตว่าได้ลูกเป็นจระเข้ และต่อมากลายเป็นงูใหญ่ ผู้คนกลัวกันมาก เมื่ออายุ ๕ ปี ได้เข้าเรียนหนังสือที่วัดห้วยลึก อำเภอปากพยูน เรียนอยู่ปีเศษ ก็สามารถอ่านและเขียนได้หมด สาเหตุที่ได้เข้าเรียนก่อนเกณฑ์ทั้งที่ยังเล็กเพราะเห็นพี่ๆ ไปโรงเรียนก็อยากไปบ้าง ได้ร้องไห้รบเร้าวิ่งตามพี่ๆ ไปโรงเรียนด้วย โยมบิดารำคาญจึงอุ้มท่านไปฝากพระให้ช่วยสอนให้ด้วยที่วัด ตอนนั้นหลวงปู่ยังเล็ก ท่านตั้งใจเรียนจริงจังฉลาด และจำแม่นจึงเรียนได้เร็ว เรียนได้ปีเศษได้ขึ้นชั้น ป. ๒ อ่านออกเขียนได้คล่อง เป็นที่ไว้วางใจของครูผู้สอนมาก แต่การเรียนของท่านต้องหยุดชะงักกลางคัน เพราะโยมบิดาตาย โยมมารดาได้พาลูกทั้ง ๓ ย้ายไปอยู่ที่บ้านสะท้อน ตำบลนาปะขอ อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ขณะนั้นพี่ชายคนโตของท่านอายุได้ ๑๕ ปี และท่านอายุได้ ๗ ปี

ตอนเด็กๆ ท่านลำบากมาก ตัวเล็กและขี้โรค ท่านต้องไปเฝ้านา เฝ้าวัว ที่ขนำนาคนเดียว ไม่มีผู้ใหญ่ กลัวแต่ก็อยู่คนเดียว กินข้าวมื้อเดียว หากินลูกไม้ ผลไม้ ยอดไม้ ในดงในป่า ลำบากมาก ทุกข์มาก บางวันตื่นเช้าขึ้นมา เห็นรอยเท้าเสื้อตัวโตเท่าม้ามาเดินรอบขนำที่ท่านนอนอยู่ แต่ท่านไม่เห็น เสือมาตอนดึกมาก ท่านหลับไปแล้ว

หลวงปู่เล่าว่า เมื่อเด็กท่านเป็นคนกล้า  เดินไปไหนมาไหนคนเดียว อยู่คนเดียวได้ เหมือนผู้ใหญ่มาแต่เด็ก เพราะไม่มีใครเขาไปด้วย

ท่านลำบากมาก เพราะกลางคืนมองไม่เห็นอะไร เป็นโรคตา "บอดไก่" ไปไหนกลางคืนต้องเดินคลำทางหรือให้เพื่อนจูงไปต้องอาศัยแสงไฟ แต่เมื่อได้บวชเป็นพระแล้ว โรคตาบอดไก่นี้ได้หายไปโดยไม่รู้ตัวว่าหายเมื่อไรเพราะอะไร

ครั้งหนึ่งเวลาพลบค่ำเดินทางไปธุระผ่านป่าข้ามองเห็นเปรตยืนขวางทาง ไกวมือแขนไปมา คนอื่นวิ่งหนี แต่หลวงปู่ ไม่วิ่งหนี ใจกล้าสู้เดินเข้าไปใกล้ เมื่อเข้าไปหาปรากฏว่าเปรตตนนั้นคือต้นตาลและต้นกลัวยที่ถูกลมพัด กวัดแกว่งไปมาดูไกลๆ เหมือนเปรตแกว่งแขน

หลวงปู่เล่าว่า ท่านเป็นคนพูดจริง ท่านทำจริงมาแต่เด็กๆ ทำอะไรก็ทำจริง แม้แต่การพูดเล่นก็จริง มีครั้งหนึ่ง โยมมารดา ใช้ให้ท่านไปวัดช่องประตูห้องเก็บของว่ากว้างยาวเท่าไร ท่านไปวัดมาแล้วด้วยความเป็นเด็กร่าเริงขี้เล่น ท่านก็มานั่งยิ้มอยู่เฉย โยมมารดาถาม “กว้างเท่าไร?” ท่านก็ยิ้มเอียงคอพยักหน้ายกข้อศอกแขนขึ้นมาข้างหน้าพร้อมยิ้มบอกว่า "หนึ่งศอก" โยมมารดาถามอีกว่า “ยาวเท่าไร?” ท่านก็ทำอาการเดิมคือยิ้มพยักหน้าเอียงคอและยกแขนข้อศอกขึ้นมาอีกว่า “หนึ่งศอก” โยมมารดานึกว่า “ท่านพูดเล่น” จึงคว้าไม้เรียวตีท่าน ๒ ที แล้วเดินไปวัดช่องห้องเก็บของ ปรากฏว่า กว้าง ยาว หนึ่งศอก ตามที่ท่านบอกจริง โยมมารดาเสียใจมากที่ตีลูกผิด ตั้งแต่นั้นมาไม่ได้ตีท่านอีกเลย จะเชื่อในคำพูดของท่าน

เวลาสอนศิษย์ ท่านจะเน้นเรื่อง พูดจริง...ทำจริง... ประพฤติสิ่งใดให้ได้จริง หลวงปู่เมตตา เล่าประวัติท่านให้ศิษย์ฟังเพราะต้องการให้ศิษย์ได้รู้เห็นตัวอย่างที่ดี และคำสอนที่ท่านสอนศิษย์นั้น ท่านได้ประพฤติปฏิบัติมาแล้ว ตั้งแต่เด็กเล็กไม่ได้สอนลอยๆ ด้วยคำพูดจาปราศรัยเท่านั้น

หลวงปู่เล่าว่า หลวงปู่เป็นคนจริง... มีสัจจะมาแต่เด็ก คนมีสัจจะเทวดารักษา ครั้งหนึ่งเมื่อโตขึ้นเข้าสู่วัยรุ่น ไปเที่ยวงาน “ชักพระ” (เป็นงานประเพณีทางภาคใต้ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑) ชาวบ้านจะแห่เรือพระพุทธรูป ไปตามถนนในหมู่บ้านให้ชาวบ้านลากและได้กราบสักการะบูชา ทุกคนในบ้านออกมาร่วมพิธีแต่งตัวสวยงาม ท่านเที่ยวชมมองดูผู้หญิงสาวแต่งตัวสวยเพลิน เท้าได้เหยียบถูกงูกะปะ งูกะปะได้พันข้อเท้าและฉกกัดท่านแต่ไม่เข้า ท่านรู้สึกว่ามีอะไรพันขาเห็นเป็นงูกะปะเอาปากกัดท่านแต่อ้าปากไม่ขึ้น กัดท่านไม่ได้ ท่านไม่เป็นอะไร

หลวงปู่เล่าว่า เมื่อท่านเป็นหนุ่ม ท่านได้ไปเที่ยวตามที่ต่างๆ เคยได้ไปวัดถ้ำพระ อำเภอเขาชัยสนเข้าไปในถ้ำลึก เห็นแท่นหินศักดิ์สิทธิ์ มีพระเครื่องขนาดหนึ่งนิ้วผุดขึ้นมาจากแท่นหินช้าๆ ถ้ามีคนหยิบเอาไป พระองค์ใหม่ก็จะค่อยๆ ผุดขึ้นมาอีก ชาวบ้านจึงใช้ชื่อว่า “ถ้ำพระ” ท่านบอกท่านไม่ได้เอาพระที่ผุดไว้ เพราะมีคนอยากได้มาก

พอท่านโตขึ้นมา ก็ยังเจ็บป่วยบ่อยๆ เป็นโรคนานาชนิด ไม่คิดว่าจะอายุยืนถึง ๓๐ ปี แต่เวลาเจ็บป่วยครั้งใดจะมีเทวดามาบอกยาให้ไปทำกิน แล้วจะหายทุกครั้ง ยาที่เทวดาบอกมี ๓๓ ขนาน (ส่วนใหญ่เป็นสมุนไพรมีพิษ) ต่อมาเทวดาตนนั้นได้บอกว่าจะขึ้นไปอยู่ข้างบนแล้ว ถ้าหากมีอะไรจะให้ช่วย ก็ให้อธิษฐานถึงแล้วจะลงมาช่วย (แต่ท่านไม่เคยให้มาช่วยเลย)

บวชครั้งที่ ๑ บวชตามประเพณี

พ.ศ. ๒๔๖๕ เมื่ออายุ ๑๙ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดโตนด อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง มีพระครูธรรมจักราราม เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่ออายุครบบวช ๒๐ ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ มีพระครูธรรมจักราราม เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระครูชิโนวาทพิทักษ์เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ณ วัดประดู่หอม อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ซึ่งช่วงนั้นท่านยังมีความอาลัยในทางโลก และยังคิดถึงคนรักของท่านอยู่

ท่านบวชอยู่ ๒ พรรษา สอบได้นักธรรมตรี แต่ไม่ได้ปฏิบัติธรรม ท่านขยันเรียนมาก อยากเรียนนักธรรมโทต่อ แต่ไม่มีที่เรียนต่อใกล้ๆ ต้องไปเรียนกรุงเทพฯ จึงได้สึกออกมา หลวงปู่เล่าว่า เมื่อรุ่นหนุ่มท่านเคยเรียนวิชามนตร์การเสน่ห์จากอาจารย์คนหนึ่ง เมื่อท่องมนตร์การแล้วจะสั่งให้ผู้หญิงทำอะไรก็ได้ ท่านทดลองท่องมนตร์ตามที่อาจารย์สอน ปรากฏว่าได้ผลจริง ผู้หญิงเดินตามท่านถึงบ้าน ท่านรู้สึกสงสารผู้หญิงมาก ไม่ได้ทำอะไรผู้หญิงคนนั้นเลย ตั้งแต่นั้นมาท่านเลิก ไม่ยุ่งเรื่องมนต์สะกดผู้หญิงอีก ท่านเล่าว่าคนรักของท่านรักกันมานาน แต่ท่านไม่เคยล่วงเกินคนรักก่อนแต่งงาน ท่านบอกต้องให้เกียรติ และรักษาเขาไม่ให้เขาเสียหายก่อนแต่งงาน

ชีวิตครอบครัว

พ.ศ. ๒๔๗๐ อายุ ๒๔ ปี  มารดาจัดให้แต่งงานกับคุณพลับ ปานมั่นคั่ง ได้ย้ายไปสร้างครอบครัวใหม่ที่บ้านทุ่งแซะ อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง มีบุตรธิดา ๕ คน ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเล็ก ๒ คน เหลือ ๓ คน คือ

๑) นายเจริญ มุสิกอุปถัมภ์

๒) แม่ชีศิริพร โพธิรังษี

๓) แม่ชีอำพัน มุสิกอุปถัมภ์

เมื่อแต่งงาน ท่านและภรรยาได้สัญญากันว่าจะให้ความเกรงกลัวซึ่งกันและกัน จะอยู่กันด้วยเหตุผล มีสัจจะให้กัน ท่านกับภรรยาไม่เคยทะเลาะกันเลย เพราะต่างคนต่างกลัวซึ่งกันและกัน และทำงานในหน้าที่ของตน ท่านเป็นคนขยันขันแข็งในการทำมาหากิน จนฐานะของครอบครัวมั่นคง ท่านพิจารณาใช้ปัญญาทำงานและทำเป็นปกติสม่ำเสมอ การทำงานทุกอย่าง ท่านจะทำได้ดีกว่าและเร็วกว่าคนอื่น เช่นไถนา ท่านจะออกแต่เข้ามืดก่อนใครๆ ไถนาตลอดไม่ยอมหยุดจนถึงเที่ยงจึงหยุดพัก ช่วงบ่ายจะหยุดไม่ไถต่อ เอาวัวเข้าคอกแล้วไปทำงานอื่นต่อไป

ขณะที่เป็นฆราวาส ท่านชอบถือศีล ๘ เป็นคนใจบุญสุนทาน ชอบไปวัด ชอบช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของหมู่บ้านและวัด จึงได้รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไปช่วยงานศพ ชอบช่วยเป็นสัปเหร่อเผาศพคอยพลิกศพ สมัยนั้นเขาจะเผาศพบนกองฟอน ต้องมีคนคอยพลิกศพไปมา ศพจะได้ไหม้ทั่วๆ จนหมด เมื่อไปช่วยงานศพ ท่านจะไม่ยอมกินอาหารในงาน ด้วยเกรงว่าจะเป็นภาระให้เจ้าของงานด้วยเห็นว่าเขากำลังมีทุกข์ ไม่อยากให้เขามีทุกข์ซ้ำซ้อน ไม่ทับถมเขาอีกด้วยการต้องมีภาระหาอาหารให้ผู้มาช่วยงานกินอีก ท่านบอกได้เป็นสัปเหร่อเผาศพจำนวนนับร้อยศพ ทำให้ได้ธรรมด้านอสุภกรรมฐาน เพราะได้สัมผัสกับปฏิกูลซากศพเน่าเปื่อยเหม็น เห็นถึงความไม่เที่ยงของชีวิต คน สัตว์ ที่เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด วนเวียนอยู่ไม่จบสิ้น

การอบรมบุตรธิดา ท่านทำให้ดูเป็นตัวอย่าง คือทำจริง พูดจริง มีเหตุผล ขยันอดทน

  • พูดกับลูกๆ ท่านจะพูดประโยคเดียว (คำเดียว) ไม่พูดมาก
  • เมื่อเวลาใครทำผิดจะไม่ตีทันที คือไม่ตีหรือทำโทษเวลาโกรธ ท่านจะบอกว่า “ลูกทำผิดแล้วจะต้องถูกลงโทษ” หลังจากนั้นอีก ๒-๓ วัน จึงจะลงโทษ
  • มีวิธีการลงโทษที่ทำให้ลูกๆ เข็ดขยาดและเกรงกลัวท่านเป็นที่สุด ไม่กล้าทำความผิดอีก เช่น เอาบอระเพ็ดยัดใส่ปาก ถามก่อนว่าจะให้ตีกี่ครั้ง ฯลฯ ท่านบอกตีลูกเพื่อฝึกให้รู้จักผิด... ไม่ได้ตีให้ตาย เวลาตีลูกท่านก็เจ็บที่ใจและสงสารลูกเหมือนกัน แต่ที่ตีนั้นเพื่อสอนเพื่อฝึกให้ “ดี” ไม่ใช่ตีให้ตาย จะให้ท่านเลี้ยงลูกตามใจ โอ๋ลูกเหมือนคนอื่นท่านไม่ทำ
  • ไม่ให้เงินลูกใช้เลย ให้กลับมากินข้าวกินขนมที่บ้าน ไม่จำเป็น ไม่ต้องซื้อ ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ท่านจะไม่ตามใจและเอาใจลูก ฝึกให้ลูกรู้จักเหตุผลเหมือนท่าน
  • รับผิดชอบดูแลจนแน่ใจว่าลูกฯ โตพอช่วยตัวเองได้แล้ว และพี่ๆ ช่วยดูแลน้องได้แล้วจึงออกบวชเพราะท่านถือว่า ลูกเป็น “กิเลส...ของ...พ่อแม่” พ่อ แม่ ลูก มีความสำคัญผูกพันกันต้องมีหน้าที่รับผิดชอบต่อกัน

การฝึกฝนอบรมตนเอง

ท่านเป็นคนชอบคิดค้น พิจารณาหาเหตุผลฝึกตนอยู่เสมอในทุกๆ เรื่อง และพยายามทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับความอยาก เช่น

  • ท่านชอบกินมะขามอ่อนมาก ท่านก็เลยเอามะขามอ่อนพร้อมกับตำพริกเกลือใส่ชามมาวางไว้ตรงหน้าด้วยแล้วบอกว่า ถ้ามะขามอ่อนเข้าปากเองถึงจะยอมกิน ถ้าไม่เข้าปากเองก็ไม่กิน ท่านนั่งมองมะขามอ่อนจนหายอยากไปเอง ตั้งแต่นั้นมา ท่านก็ไม่อยากกินมะขามอ่อนอีกเลย
  • ฝึกกินข้าวเปล่า ครั้งหนึ่งท่านเห็นวัวควายกินแต่หญ้า ท่านจึงคิดว่า วัวควายกินแต่หญ้ายังไม่ตาย และแข็งแรงกว่าคน คนเราจะกินอาหารแต่ละครั้งวุ่นวายอาหารแต่ละอย่างต้องใส่อะไรๆ หลายอย่าง เพื่อให้มีรสชาติตามที่ชอบ ท่านจึงลองฝึกกินข้าวเปล่า (เป็นข้าวกล้อง มีสารอาหาร บำรุงเลือด บำรุงกำลัง) กินมื้อเดียวโดยกินกับเกลือ พริก เพื่อพิสูจน์ว่ากินข้าวอย่างเดียวก็อยู่ได้ และสำมารถทำงานได้ดีกว่าคนที่กินข้าว ๓ มื้อ ทำให้ท่านกลายเป็นคนไม่ติดรสอาหาร กินได้ ๕ ปี จนบวชเป็นพระจึงเลิกกินข้าวเปล่า ด้วยเหตุผลที่ว่า ต้องฉันอาหารตามที่ญาติโยมศรัทธาใส่บาตรให้ ท่านบอกว่า ถ้าไม่บวชก็จะกินข้าว (ข้าวกล้อง) เปล่าๆ ไปจนตาย
  • ท่านกลัวสิ่งใดก็ตาม ท่านก็จะเข้าหาสิ่งนั้นเสมอ เช่น กลัวผี ก็ไปอยู่ป่าช้า
  • ท่านฝึกพูดแต่คำจริง อยู่ ๒๐ ปี ถึงจะสมบูรณ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ คือทุกอย่างที่พูดออกมาเป็นเรื่องจริงทั้งสิ้น ดั่งภาษิตที่ท่านบอกว่า

ของดีหาได้ยากในโลกมี ๔ อย่างคือ

๑) ข้างเผือกในป่า

๒) สมณะนอกวัฏฏ์

๓) ผู้สมบูรณ์คุณสมบัติ

๔) คฤหัสถ์พูดจริง

หลวงปู่ปรารภว่า ท่านชอบคิดค้นพิจารณาหาเหตุผลในเรื่องทุกเรื่อง ไม่ว่าจะทำงานสิ่งใดๆ แม้แต่การร่วมเพศกับภรรยาท่านก็พิจารณาด้วย ท่านได้เห็นถึงโทษของกามที่เป็นเหตุทำให้ท่าน “เกือบเป็นบ้า” เมื่อการร่วมเพศถึง “จุดสุด” เกือบขาดใจตาย เพราะ “หลง” ท่านหลงภรรยามาก และเคยทุกข์เหมือนคนทางโลก เข้าใจว่า "ความสุขทางกามดี” แต่แท้จริงแล้วเป็น "ความทุกข์" ทุกข์เพราะมัวเมาในราคะ ตัณหา ทำให้หลงเพลิดเพลินคิดว่าเป็น “ความสุข” เมื่อได้พิจารณาโทษของกาม ท่านอยากสละจากเพศฆราวาส อยากบวชอยู่ในเพศพรหมจรรย์ ได้ปรึกษาขออนุญาตภรรยาของท่านขอออกบวช แต่ภรรยาของท่านไม่ยอมให้ท่านได้ออกบวชตามต้องการ ด้วยเหตุผลว่าไม่สามารถดูแลลูกเล็กๆ ๓ คน ได้คนเดียว ท่านจึงจำเป็นต้องอยู่ในเพศฆราวาสต่อไป ตามสัจจะสัญญาที่ให้กับภรรยาไว้

พ.ศ. ๒๔๙๙ ภรรยาท่านอายุ ๕๒ ปี ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคกษัยผอมแห้ง ขณะนั้นท่านอายุได้ ๕๓ ปี การจัดงานศพของภรรยาท่าน ท่านคาดว่าชาวบ้านไม่พอใจที่ท่านไม่เคยไปร่วมวงสังสรรค์รับประทานอาหารกับใครๆ เลย และอาจจะไม่มาร่วมช่วยงานศพภรรยาท่านก็ได้ แต่เมื่อถึงเวลาจริงแล้ว กลับตรงกันข้าม มีแขกเหรื่อเพื่อนบ้านมาร่วมช่วยงานกันอย่างคับคั่ง ต่างคนต่างนำอาหารมากันทุกคน ท่านบอกว่า “พวกเขาคิดจะให้เรากินอาหารของเขาให้ได้ ในงานนี้แหละ” นอกจากอาหารแล้ว ทุกคนยังร่วมช่วยเหลือเงินและสิ่งของอีกมากมาย แต่ท่านไม่ยอมรับ ท่านจะรับเพียงคนละหนึ่งบาทเท่านั้น หลังจากงานเสร็จแล้ว ทั้งของและอาหารยังเหลืออยู่อีกมาก เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงอุปนิสัยมักน้อยสันโดษ และความมีเมตตาเอื้อเฟื้อต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ถึงแม้ภรรยาจะจากไปแล้ว ท่านก็ยังไม่สามารถออกบวชได้ตามความประสงค์ เพราะลูกยังเล็กทั้งสามคนยังเป็นภาระต้องเลี้ยงดูต่อไป ท่านถือว่า “ลูก” เป็น “กิเลส” ของ “พ่อแม่” พ่อ แม่ ลูก มีหน้าที่ ที่เป็นภาระผูกพันกัน ท่านจึงทำหน้าที่ “พ่อ” เลี้ยงดูลูกต่อไปจนลูกชายคนโตบรรลุนิติภาวะได้งานทำเป็นข้าราชการครู ลูกสาวคนที่ ๒ แต่งงานเป็นหลักฐานแล้ว เห็นว่าพี่ทั้งสองคนคงจะสามารถดูแลน้องสาวคนเล็กได้ ท่านจึงตัดสินใจออกบวชเป็นพระตามที่ท่านต้องการมานานหลายปีแล้ว

บวชครั้งที่ ๒ (บวชฝึกจิต)

การออกบวชครั้งที่สองของหลวงปู่เปลื้องฯ ท่านบวชที่วัดท่ามะเดื่อ ตำบลท่ามะเดื่อ อำเภอเขาชัยสน (ปัจจุบันเป็นอำเภอบางแก้ว) จังหวัดพัทลุง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ (อายุ ๖๐ ปี) โดยพระราชธรรมมุนี (เปลื้อง จตฺตาวิโล) เจ้าคณะจังหวัดภูเก็ต-พังงา-กระบี่ เป็นพระอุปัชฌาย์ (ขณะนั้นเป็นพระครูพิศิษฐ์ธรรมภาณ เจ้าคณะอำเภอเขาชัยสน) มีพระครูอดิสัยศีลวัฒน์ (เยี่ยม ปวราสโย) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอุปัชฌาย์ ได้ให้ฉายาท่านว่า “ปญฺวนฺโต” แปลว่า ผู้มีปัญญาอันฉลาดหาที่สุดมิได้

เมื่อบวชแล้ว อยู่วัดท่ามะเดื่อได้ ๓-๔ วัน พระอุปัชฌาย์ได้พาไปปฏิบัติธรรมด้วยกับท่านที่วัดปัณณาราม อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง หนึ่งพรรษา และได้ให้ท่านไปอยู่ปฏิบัติธรรมที่วัดคลองไอ้โต อำเภอเขาชัยสน ( ปัจจุบันเป็น อำเภอบางแก้ว) ระยะหนึ่ง

ต่อมาพระอุปัชฌาย์ได้พาท่านเข้าอยู่ปฏิบัติธรรมที่ “สำนักปฏิบัติธรรมบางแก้วผดุงธรรม” ซึ่งพระอุปัชฌาย์ของท่านได้ดำริสร้างไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๓ โดยได้ติดต่อซื้อที่ดินใกล้ตลาดบางแก้ว เพื่อจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรม เพื่อเป็นสถานที่อบรมเผยแพร่การปฏิบัติธรรมกรรมฐานและวิปัสสนา ให้ญาติโยมได้ปฏิบัติธรรมกรรมฐาน มุ่งใช้ระเบียบต่างๆ และมุ่งปฏิปทาตามแบบอย่างของท่านเจ้าคุณพระนิโรธรังสี ให้แพร่หลายกว้างขวางยิ่งขึ้น

พ.ศ. ๒๕๐๘ พระอุปัชฌาย์ของท่านในเวลานั้นเป็น พระพิศิษฐ์ธรรมภาณ ได้รับการรักษาการแต่งตั้งและได้ย้ายไปเป็นรักษาการเจ้าคณะจังหวัดภูเก็ต-พังงา-กระบี่ (ธรรมยุต) แทนพระนิโรธรังสี (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) ตามคำแนะนำของพระนิโรธรังสี ซึ่งได้ขอลาออกจากตำแหน่ง เพื่อกลับไปยังภูมิลำเนาเดิมทางภาคอีสาน พระอุปัชฌาย์จึงได้มอบหมายให้ท่านดูแลสำนักปฏิบัติธรรมนี้ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ ซึ่งท่านก็ได้รับคำตามที่พระอุปัชฌาย์ขอไว้

ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น “วัดบางแก้วผดุงธรรม” และได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัด พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระครูวิจิตรกิตติคุณ” เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท

หลวงปู่ได้อยู่ดูแลวัด “บางแก้วผดุงธรรม” ตามที่พระอุปัชฌาย์ขอจนมรณภาพ ณ วัดบางแก้วฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๐ ตาม “สัจจะ” ที่รับปากพระอุปัชฌาย์ไว้

เมื่ออยู่วัดบางแก้วฯ พรรษาต้นๆ ท่านเร่งทำความเพียรทั้งวันทั้งคืน สำรวมอินทรีย์หก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่พูดคุยกับใคร ไม่รับกิจนิมนต์ใดๆ ทุกวันออกบิณฑบาตเช้า ฉันเสร็จก็เข้ากุฏิปิดประตูปฏิบัติธรรมภาวนา จนได้เวลาออกกวาดตาด (กวาดใบไม้) เย็นทุกวัน ทำให้ชาวบ้านบางคนเข้าใจผิด คิดว่าท่านเป็นพระที่กินแล้วนอนไม่ทำงาน ไม่ยอมใส่บาตรให้ท่าน และมีคนแกล้งแอบตัดสายไฟฟ้าที่กุฏิของท่าน หลวงปู่จึงตั้งสัจจะไม่ใช้ไฟฟ้าในกุฏิของท่านจนตลอดชีวิต

พ.ศ. ๒๕๒๐ ด้วยเมตตาจิตหลวงปู่ประสงค์จะสอนศิษย์และญาติโยมให้ปฏิบัติธรรมภาวนาได้เต็มที่ และเห็นว่าท่านเองชราภาพมากแล้วจะดูแลบริหารพัฒนาวัดให้เจริญคนเดียวไม่ไหว จึงได้นิมนต์ พระครูอดิสัยศีลวัฒน์ พระกรรมวาจาจารย์ของท่าน (ขณะนั้นเป็นเจ้าอาวาสวัดหัวเขา อำเภอเขาชัยสน) มาช่วยดูแลบริหารพัฒนาวัดบางแก้วฯ ให้เจริญยิ่งขึ้น “วัดบางแก้วผดุงธรรม” จึงมีฝ่ายปฏิบัติธรรมและฝ่ายพัฒนาวัดจนถึงปัจจุบัน ทั้งสององค์ คือ หลวงปู่และพระครูอดิสัยฯ ต่างให้ความเคารพนับถือซึ่งกันและกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลวงปู่เปลื้องฯ จะให้ความเคารพนับถือท่านพระครูอดิสัยฯ มาก เมื่อมีโอกาสได้พบกัน กราบได้ท่านก็จะกราบ กราบไม่ได้ท่านก็จะยกมือทำความเคารพอย่างนอบน้อมดูงดงามน่าชื่นชมเลื่อมใส เป็นตัวอย่างที่ดีงามแก่ศิษย์และสาธุชนทั่วไป จนถึงวันมรณภาพ

ท่านกล่าวว่า พระครูอดิสัยฯ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ มีพระคุณต่อท่านมากเปรียบเสมือน “แม่” ผู้ให้ท่านเกิด “เป็นพระ” (ท่านปรารภเสมอว่า พระอุปัชฌาย์และพระกรรมวาจาจารย์เปรียบเสมือนพ่อแม่ของท่าน มีพระคุณต่อท่านมาก เพราะเป็นผู้ที่ทำให้ท่านได้เกิด

อาพาธ (ด้านสุขภาพของหลวงปู่)

ปกติท่านจะขึ้นทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็นเป็นประจำ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ขณะที่ท่านลงบันไดวิหารตอนกลับจากทำวัตรเย็น ท่านก้าวพลาดตกบันได เพราะตามองไม่เห็นขั้นบันได จึงได้นิมนต์ท่านไปตรวจตาที่กรุงเทพฯ อาจารย์ ดร.ประดิษฐ์ เชี่ยวสกุล และคุณอุบลศรี ภรรยา ได้ปวารณากราบอาราธนาขอให้ท่านเปลี่ยนเลนส์สีแก้วตาที่เป็นต้อกระจกทั้งสองข้าง ข้างหนึ่งทำที่โรงพยายาลหัวเฉียว กรุงเทพฯ โดยอาจารย์หมอศรีเฟื่องฟุ้ง และอีกข้าง พล.ร.ท.สุรัตน์ นัยสวัสดิ์ ได้อาราธนานิมนต์ท่านไปทำที่โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า โดย พล.ร.ต.นพ.สุชีพ ช้างเสวก เป็นผู้รักษาก่อนเข้าพรรษาปี พ.ศ. ๒๕๓๑

หลังออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๕๓๑ แล้วท่านปวดนิ้วมือกำไม้กวาดสำหรับกวาดวัดไม่ได้ เพราะเอ็นที่นิ้วมือหัวแม่โป้ง มือขวา และนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง มือซ้ายไปยึดติดกระดูก นาวาเอก นพ.เผดิมพงค์ รุมาคม ได้ทำการผ่าตัดเลาะเอ็นที่ยึดติดกระดูกให้ที่โรงพยาบาลแพทย์ปัญญา ที่กรุงเทพฯ ท่านกลับวัดกวาดลานวัดได้นานเป็นชั่วโมง

ในเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ท่านเป็น Hernia (ไส้เลื่อน) ได้รับการผ่าตัดที่โรงพยายาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ โดย นพ.แสงโรจน์ ประดับแก้ว นายแพทย์ที่ดูแลสุขภาพของหลวงปู่ที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ก็มี นพ.ชลัท แพทย์หญิงสุรางค์ ผ่องแผ้ว นพ.วิวัฒน์ นิมมานรัตน์ นพ.ธีรยุทธ์ วรรณกูล นพ.สันต์ สุขะวัฒนะ

ในระหว่างปีพรรษา พ.ศ. ๒๕๓๗ ขณะที่หลวงปู่นั่งพักอยู่ในกุฏิท่านลุกขึ้นจากเก้าอี้ มีอาการเวียนศีรษะได้ล้มลงศีรษะกระแทกกับผนังห้อง และล้มหงายลงกลางพื้นห้อง ศีรษะของท่านโนปูดขึ้นมา ๒ แห่ง นพ.ธีรยุทธ์ วรรณกูล ได้นิมนต์ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลราษฎร์ยินดีหาดใหญ่ ได้พักรักษาอยู่เกือบสามสัปดาห์ แข็งแรงดีแล้วจึงกลับ ท่านกวาดวัดได้แต่ใช้เวลาน้อยลง ต่อมาท่านมีปัญหาเรื่องการขับถ่ายปัสสาวะ และฉันอาหารน้อยลง ได้อาราธนานิมนต์ท่านไปรับการตรวจรักษาที่ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ และงดรับนิมนต์ไปมูลนิธิท่านพระอาจารย์มั่น ในวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๘ ปกติท่านจะรับนิมนต์และไปทุกปี ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๘ ท่านงดรับกิจนิมนต์ออกนอกวัด

ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ท่านเริ่มอาพาธมากขึ้น มีอาการปวดหลัง ปวดบั้นเอว ปวดขา ขาไม่มีแรง เดินไม่ได้ หมอนวดได้มานวดเส้นให้จนท่านเดินเองได้ แต่ไม่คล่องเหมือนเดิมต้องระวังเกรงว่าท่านจะล้มอีก ท่านลดอาหารลงเหลือเพียงไม่ถึง ๒๐ คำ

การอาพาธ เดือนมกราคม ๒๕๔๐ ท่านอาพาธท้องเดิน ได้อาราธนานิมนต์ท่านไปรับการรักษาที่โรงพยายาลราษฎร์ยินดี โดย นพ.สันต์ สุขะวัฒนะ และ นพ.ธีรยุทธ์ วรรณกูล พักรักษาอยู่ ๓ วันก็กลับวัด

วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๔๐ ท่านมีอาการบวม และเท้าบวมมาก ฉันอาหารได้ ๓-๔ คำก็หยุด นพ.ธีรยุทธ์ วรรณกูล ได้กราบอาราธนานิมนต์ท่านไปรับรักษาที่โรงพยายาลหาดใหญ่ ท่านอยู่ได้สองคืน แล้วบอกให้พากลับวัด ท่านบอกว่าท่านเจ็บคราวนี้ยาอะไรก็รักษาไม่หาย วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๔๐ เวลา ๐๘.๐๐น. หลังจากรับประเคนบาตรให้พรและฉันได้ ๒ คำ ท่านก็หยุดฉัน แล้วฉันยา ท่านก็พักเป็นปกติ ต่อมามีอาการเสมหะติดคอ ท่านพยายามไอให้ออก แต่ไอไม่ออก ๒-๓ ครั้ง แล้วท่านก็หลับตา นิ่งสงบ พอถึงเวลา ๑๒.๕๓ น. ท่านก็หยุดหายใจ

Product tags
  • วัดบางแก้วผดุงธรรม (1)
  • ,
  • ถ้ำพระ (1)
Information
  • สวนพุทธธรรม
  • ติดต่อเรา
Customer service
    Selected offers
      My account
          Copyright © 2023 สวนพุทธธรรม ปัญญจิตตธัมโม. All rights reserved.