ตัวฐีติ นี่มันก็นิ่งเด่นของมันอยู่ หมายถึงในขณะที่จิตกับอารมณ์มันแยกออกจากกันได้แล้ว
ทีนี้เพราะความรู้ที่มันเกิดขึ้น จิตไม่มีอุปาทานยึดมั่นในความรู้นั้น มันจึงปรากฏว่าสิ่งรู้ทั้งหลายนี่เป็นอันหนึ่ง จิตก็เป็นอีกอันหนึ่ง
ความรู้ที่เกิดขึ้นแล้ว มันแยกออกจากจิตได้ มันเป็นตัว วิสังขาร
แต่ถ้ารู้แล้วจิตยังสำคัญมั่นหมายว่าอะไรเป็นอะไรอยู่ มันเป็นตัว สังขาร มันเป็น สังขารา อนิจจา
ฐีติภูตัง ของหลวงปู่มั่นนี่เป็นวิสังขาร จิตรู้แล้วไม่ยึดสิ่งรู้ มีแต่ปล่อยวางลูกเดียว
ประวัติและปฏิปทา
พระราชสังวรญาณ หรือ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย (๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๔ - ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๒) วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา นามเดิม พุธ อินทรหา ชาวจังหวัดสระบุรี เป็นพระเถราจารย์ฝ่ายพระกรรมฐาน ผู้อำนวยประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาและสังคมไทยเป็นอเนกอนันต์ ท่านมีข้อวัตรปฏิบัติเป็นที่น่าเลื่อมใส ชำนาญการอบรมธรรมทั้งภาคปริยัติและปฏิบัติ มีปฏิภาณโวหารในการแสดงธรรมอันละเอียดลึกซึ้งและเข้าใจง่าย และเป็นลูกศิษย์รุ่นสุดท้ายของหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล
ชีวิตในวัยเด็ก ท่านต้องเผชิญกับความยากลำบากเนื่องจากสูญเสียบิดามารดาตั้งแต่อายุ ๔ ขวบ และมีอาการเจ็บป่วยอยู่บ่อยครั้ง ถึงกับตั้งปณิธานว่า “ทายาททุกข์จะไม่ให้มี” เมื่ออายุเพียง ๘ ขวบ ได้ไปกราบพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ที่วัดบ้านหนองดินดำ จังหวัดอุบลราชธานี ในงานศพของครูบาอาจารย์ท่านหนึ่งจนเกิดความเลื่อมใส เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี จึงได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดอินทร์สุวรรณ อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ในปีถัดมาได้ถวายตัวเป็นลูกศิษย์และเรียนรู้การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานกับหลวงปู่เสาร์ ที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลราชธานี ในช่วงนี้ท่านยังได้ศึกษาพระปริยัติธรรมและสอบนักธรรมชั้นเอกได้ เมื่ออายุ ๑๙ ปี หลวงปู่เสาร์ได้พาท่านมาฝากเรียนภาษาบาลีที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร เมื่อครบอายุบวช ท่านจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดปทุมวนาราม โดยมีท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร (หนู) เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้รับฉายาว่า “ฐานิโย ผู้ตั้งมั่นในคุณธรรม”
สมัยสงครามแปซิฟิก หลวงพ่อพุธได้ย้ายกลับมาจำพรรษาที่วัดบูรพา ในช่วงนี้ท่านได้อาพาธหนักด้วยอาการติดเชื้อวัณโรค ท่านได้พบกับพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ซึ่งได้ให้อุบายในการพิจารณามรณานุสติและอริยสัจ ๔ ท่านก็ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด จนคืนหนึ่ง ขณะท่านพิจารณาความตายอยู่ จิตเกิดเป็นสมาธิขึ้นมา เห็นร่างกายตัวเองเน่าเปื่อยผุพังไปตามลำดับ จนแม้แต่แผ่นดินก็หายไป เหลือแต่จิตดวงเดียวสว่างไสวอยู่เป็นที่อัศจรรย์ จากนั้นมาอาการอาพาธหนักก็ค่อยทุเลาลงจนหายไปในที่สุด ในพรรษาที่ ๖ ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น กับท่านเจ้าคุณอริยคุณาธาร ในพรรษาที่ ๗-๑๒ ก็กลับมาที่วัดบูรพา ในช่วงนี้ท่านสอบเปรียญ ๔ ประโยคได้ เมื่อถึงฤดูออกพรรษาก็จาริกธุดงค์ไปตามสถานที่วิเวกต่างๆ ในพรรษาที่ ๑๓-๒๖ ท่านได้รับนิมนต์มาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดแสนสำราญ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ในช่วงแรกต้องฟันฝ่าอุปสรรคหลายประการ เช่น ความอัตคัดในเครื่องบริโภคใช้สอย และความไม่เป็นมิตรของพระลูกวัด แต่ท่านก็ใช้ขันติและเชาวน์ปัญญาปกครองอารามแห่งนี้จนผ่านมาด้วยดี ในพรรษาที่ ๒๗-๒๘ ท่านได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ จึงมาจำพรรษาอยู่ที่วัดหลวงสุมังคลาราม อำเภอเมือง ซึ่งหลังจากผ่านไป ๑ ปีกับ ๘ เดือน ก็ได้ลาออกจากตำแหน่งไป
ปี ๒๕๑๓ หลวงพ่อพุธย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเป็นกรรมการบริหารโรงเรียนพระสังฆาธิการฯ ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ และอยู่จําพรรษาที่นี่เป็นส่วนใหญ่ ท่านได้ปฏิบัติศาสนกิจช่วยงานพระศาสนามากมายจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต อาทิ เป็นพระวิปัสสนาจารย์อบรมการปฏิบัติภาวนาแก่สาธุชนโดยสม่ำเสมอ นำคณะศรัทธาจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ให้กับโรงพยาบาล มอบทุนสนับสนุนการก่อสร้างตึกสงฆ์อาพาธและก่อตั้งมูลนิธิ โรงเรียน ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐต่างๆ
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย พากเพียรอบรมสั่งสอนกุลบุตรลูกหลานไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก เพื่อชี้ทางแห่งความตื่นรู้และหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ทั้งยังมีศีลาจารวัตรงดงามเสมอต้นเสมอปลายเป็นแบบอย่างอันดีแก่ศิษยานุศิษย์มาโดยตลอด ควรแก่การสักการะบูชาอย่างสูงสุด