เอามรรคที่เกิดขึ้นจากกาย จากใจ น้อมเข้ามาหาตน น้อมเข้ามาในกาย น้อมเข้ามาในใจ ให้มันรู้แจ้งเห็นจริงในใจนี่แหละ อย่าไปยึดไปถือเอาที่อื่น ...
เอาอยู่ในกายในใจนี้ น้อมเข้ามาสู่อันนี้ นำหลงนำลืมออกไปเสีย ให้อยู่กับปัจจุบัน เอาจิตเอาใจละวางถอดถอนออก ทางกายก็น้อมเข้ามาให้รู้แจ้งทางกาย น้อมเข้ามาหาใจของตนนี้ให้มันแจ่มแจ้ง ถ้าไปยึดถือเอาอย่างอื่น มันเป็นเพียงสัญญาความจำ น้อมเข้ามารู้แจ้งในใจของตนนี้ รู้แจ้งในกายของตน นอกจากนี้เป็นแต่เพียงอาการของธรรม ...
สติปัฏฐานสี่ สติมีเพียงตัวเดียว นอกนั้นท่านจัดไปตามอาการ แต่ทั้งสี่มารวมอยู่จุดเดียว คือเมื่อสติกำหนดรู้กายแล้ว นอกนั้นคือ เวทนา จิต ธรรม ก็รู้ไปด้วยกัน เพราะมีอาการเป็นอย่างเดียวกัน
ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ (๑๖ มกราคม ๒๔๓๐ - ๒ กรกฎาคม ๒๕๒๘) วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ นามเดิม ญาณ หรือ ยาน รามศิริ ชาวจังหวัดเลย เป็นพระมหาเถระที่เป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงยิ่งรูปหนึ่งในวงศ์พระธุดงคกรรมฐาน มีคณะศรัทธาเดินทางมาทำบุญและฟังโอวาทธรรมท่านจากทั่วทุกสารทิศ และเป็นศิษย์สำคัญองค์หนึ่งของพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต ตัวท่านเองครองสมณเพศนับตั้งแต่เป็นสามเณรจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตยาวนานถึง ๘๑ ปี หลวงปู่แหวนได้วางรากฐานการปฏิบัติกรรมฐานในภาคเหนือ และมีลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงมากมาย อาทิ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) พระอาจารย์เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป พระอาจาย์ประสิทธิ์ ปุญฺญมากโร และหลวงปู่บุญจันทร์ จนฺทวโร
หลวงปู่แหวนได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดโพธิ์ชัย อำเภอเมือง จังหวัดเลย เมื่ออายุ ๙ ปี ตามคำร้องขอของแม่และยาย จนเมื่ออายุครบบวชพระ ท่านได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายมหานิกาย ที่วัดสร้างก่อนอก อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพระอาจารย์แว่น เป็นพระอุปัชฌาย์ ในระหว่างที่ท่านศึกษาพระปริยัติอยู่นั้น หลวงปู่ได้เห็นอาจารย์หลายท่านลาสิกขาออกไปมีครอบครัวจนเกิดความสลดสังเวชใจ และเปลี่ยนใจมาทางการออกปฏิบัติกรรมฐาน
ในปี ๒๔๖๑ หลวงปู่แหวนได้เดินทางไปถวายตัวเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น ที่เสนาสนะป่าดงมะไฟ บ้านค้อ ตำบลบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี จากนั้นท่านก็เริ่มต้นฝึกปฏิบัติภาวนา ซึ่งในการอบรมธรรมของหลวงปู่มั่นในช่วงนั้น เมื่อได้รับข้อแนะนำในการปฏิบัติแล้ว ลูกศิษย์แต่ละองค์จะแยกย้ายกันไปหาสถานที่วิเวกเพื่อบำเพ็ญเพียรภาวนา เมื่อถึงวันลงอุโบสถก็จะมารวมตัวกันทีหนึ่ง และรับข้อปฏิบัติจากหลวงปู่มั่นอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงนี้หลวงปู่แหวนได้สหธรรมิกที่สำคัญองค์หนึ่งคือ หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ท่านทั้งสองมักจะเดินธุดงค์ด้วยกันเสมอ ไปตามเมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว ต่อไปทางสิบสองปันนา สิบสองจุไท และกลับมาประเทศไทยทางจังหวัดเลย สภาพของป่าบริเวณนั้นเป็นป่าดงดิบ เต็มไปด้วยสัตว์อันตรายนานาชนิด ด้วยเหตุนี้จิตใจของท่านจึงมีสติตื่นอยู่เสมอ เป็นสมาธิได้ง่าย รวมตัวได้เร็ว และสามารถทำความเพียรอย่างต่อเนื่อง ในปี ๒๔๖๔ หลวงปู่ทั้งสอง ก็จาริกด้วยกันอีก โดยไปที่ประเทศพม่าและประเทศอินเดีย
ต่อมา หลวงปู่แหวนได้กลับมาพบหลวงปู่มั่นอีกครั้งที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ และในปี ๒๔๗๐ ได้ญัตติเป็นพระธรรมยุติ ที่พัทธสีมาวัดเจดีย์หลวงนี้เอง โดยมีท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ ในช่วงที่เที่ยวธุดงคกรรมฐานอยู่ในภาคเหนือนั้น หลวงปู่แหวนได้ร่วมธุดงค์และแลกเปลี่ยนความรู้ทางธรรมกับลูกศิษย์หลวงปู่มั่นอีกหลายองค์ อาทิ หลวงปู่ขาว อนาลโย พระอาจารย์พร สุมโน พระอาจารย์เทสก์ เทสรํสี และพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ
หลังจากที่หลวงปู่มั่นเดินทางกลับไปภาคอีสานแล้ว หลวงปู่แหวนก็ยังคงปักหลักบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ที่ภาคเหนือโดยไม่ไปจำพรรษาที่ภาคอื่นอีกเลย โดยครั้งหนึ่งหลวงปู่เคยกล่าวไว้ว่า “ถ้ายังไม่บรรลุพระอรหัตผลตามความมุ่งหวัง จะไม่ไปจากเมืองเชียงใหม่” จากนั้นหลวงปู่แหวนยังคงเที่ยววิเวกไปตามป่าตามเขาตามดอยต่างๆ ในเขตภาคเหนือตอนบน และธุดงค์ไปภาคเหนือตอนล่างเป็นครั้งคราว รวมเวลาที่ท่านเดินธุดงค์ทั้งหมดราว ๕๐ ปี ในปัจฉิมวัย หลวงปู่แหวนจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านปง อำเภอแม่แตง เชียงใหม่ และสุดท้ายมาพักรักษาตัวที่วัดดอยแม่ปั๋ง อําเภอพร้าว จนกระทั่งมรณภาพ
หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ เป็นนักรบในวงศ์พระธุดงค์กรรมฐานอย่างแท้จริง ท่านเป็นผู้ตั้งใจประพฤติตามปฏิปทาหลวงปู่มั่นอย่างอุกฤษฏ์ มีวิริยะอุตสาหะ ปรารภความเพียรมั่นคง ชื่นชอบการเที่ยวจาริกไปตามป่าเขา และยอมสละชีวิตเพื่อธรรม ท่านมักน้อยสันโดษ เปี่ยมล้นด้วยความเมตตา มีศีลาจารวัตรงดงาม และใจบริสุทธิ์อันถึงแล้วด้วยธรรม หลวงปู่แหวนเป็นศูนย์รวมจิตใจและสร้างคุณูปการต่อชาวพุทธทั่วโลก นับเป็นเนื้อนาบุญที่ควรค่าแก่การเทิดทูนอย่างสูงสุด