จิต คือผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง สังขาร สัญญาอารมณ์ทั้งหมดเกิดจากจิต เมื่อพูดถึงจิตแล้วไม่นิ่งเฉยได้เลย
จิต เป็นของไม่มีตัวตน แทรกซึมเข้าไปอยู่ได้ในที่ทุกสถาน แม้แต่ภูเขาหนาทึบก็ยังแทรกเข้าไป แทรกทะลุปรุโปร่งได้เลย จิต นี้มีอภินิหารมาก เหลือที่จะพรรณนาให้สิ้นสุดได้
ใจ คือผู้เป็นกลางๆ ในสิ่งทั้งปวงหมด ใจก็ไม่มีตัวตนอีกนั่นแหละ มีแต่ผู้รู้อยู่เฉยๆ แต่ไม่มีอาการไป อาการมา อดีตก็ไม่มี อนาคตก็ไม่มี บุญแลบาปก็ไม่มี นอกแลในก็ไม่มี กลางอยู่ตรงไหนใจก็อยู่ตรงนั้น
ตัวใจแท้มิใช่วัตถุ เป็นนามธรรม
กิเลสมิใช่จิต จิตไม่ใช่กิเลส แต่จิตไปยึดเอากิเลสมาปรุงแต่งให้เป็นกิเลส ถ้าจิตกับกิเลสเป็นอันเดียวกันแล้ว ใครในโลกนี้จะชำระกิเลสให้หมดได้
ผู้ต้องการจะชำระจิตใจของตนให้สะอาดปราศจากกิเลสทั้งปวง จะต้องชำระ จิต นี้แหละไม่ต้องไปชำระที่ ใจ หรอก เมื่อชำระที่ จิต แล้ว ใจ มันก็สะอาดไปเอง เพราะ จิต แสส่ายไปแสวงหากิเลสมาเศร้าหมองด้วยตนเอง
เมื่อชำระ จิต ให้ใสสะอาดแล้วก็จะกลายมาเป็น ใจ ไปในตัว
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
พระราชนิโรธรังสี หรือ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เป็นพระเถระฝ่ายวิปัสสนาธุระสายพระป่าในประเทศไทยที่มีชื่อเสียง ศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
หลวงปู่เทสก์ สกุลเดิม เรี่ยวแรง กำเนิดเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๕ (ปีขาล) ในครอบครัวชาวนา เป็นบุตรของนายอุส่าห์ นางครั่ง เรี่ยวแรง บ้านนาสีดา ตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
เมื่ออายุ ๑๘ ปี มีโอกาสติดตาม พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ออกธุดงค์ และบรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดบ้านเค็งใหญ่ โดยมีพระอาจารย์ลุย เป็นอุปัชฌาย์ ต่อมาไป ศึกษาธรรมที่วัดสุทัศนาราม เมืองอุบล และเรียนหนังสือที่วัดศรีทอง จนกระทั่งวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ได้อุปสมบท ณ พัทสีมาวัดสุทัศนาราม โดยมีพระมหารัฐเป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาปิ่น ปัญญาพโล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ต่อมาได้ออกธุดงคไปกับพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ได้มีโอกาสวาสนากราบนมัสการพระเดชพระคุณหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่บ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ทำให้มีกำลังจิต กำลังใจในการปฏิบัติธรรมบำเพ็ญความเพียรอย่างยิ่ง
พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) ถ่าย ณ วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ราว พ.ศ. ๒๕๓๔
ครั้งสมัยที่ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตไปพำนักทางภาคเหนือ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้จาริกธุดงค์กับพระอาจารย์อ่อนสีไปกราบท่านอาจารย์ใหญ่ที่ป่าเมี่ยง ดอยแม่ปั๋ง เชียงใหม่ และได้ปฏิบัติธรรมในภาคเหนือ ถิ่นมูเซอร์ และมาโปรดสาธุชนบริเวณจังหวัดลำพูน จนกลับมาภาคอีสาน พำนักที่วัดอรัญญวาสี ท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ไปเยี่ยมหลวงปู่มั่นที่อาพาธ ที่วัดบ้านหนองผือ นาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร จนกระทั่งท่านพระอาจารย์ใหญ่ละสังขาร ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ท่านไปจำพรรษาที่จังหวัดภูเก็ตและเผยแผ่ศาสนธรรมในภาคใต้ร่วมกับหมู่คณะ โดยพำนักที่ภูเก็ต พังงา และกระบี่ นานถึง ๑๕ ปี ก่อนกลับมาพักจำพรรษาที่วัดถ้ำขาม จังหวัดสกลนคร ปีต่อมาจาริกมาที่วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง บรรยากาศดีเหมาะแก่การเจริญธรรมสัมมาปฏิบัติ
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เป็นสมณะผู้สมบูรณ์ด้วยศีลาจารวัตรอันงดงามยิ่ง เป็นผู้นำศรัทธาในการอบรมสั่งสอนธรรมและนำสร้างศาสนสถานเพื่อการจรรโลงพระพุทธศาสนาหลายแห่งในถิ่นแถบอีสาน เป็นปูชนียาจารย์ของชนทุกระดับชั้น
ในปัจฉิมวัยท่านไปพำนักที่วัดถ้ำขาม และละสังขารด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ เวลาประมาณ ๒๑.๔๕ น สิริอายุได้ ๙๓ ปี พรรษา ๗๑ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานน้ำหลวงสรงศพและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานหีบทองทึบ และทรงรับงานบำเพ็ญกุศลอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ พิธีพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี จัดขึ้นที่วัดหินหมากเป้ง นับเป็นงานพระราชทานเพลิงศพพระเถราจารย์ครั้งประวัติศาสตร์ และในปัจจุบันวันที่ ๑๗ ธันวาคม สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จะให้ผู้แทนพระองค์นำแจกันดอกไม้วางหน้าพระอัฐิหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ณ วัดหินหมากเป้ง เป็นประจำทุกปี