สังขารทั้งหลาย จะเป็นรูปสังขาร นามสังขาร ก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
ผู้ใดมาภาวนาเพียรเพ่งดูให้เห็นแจ้ง ทั้งรูปขันธ์ และทั้งนามขันธ์ ว่าอะไรทั้งหมดนั้นแหละ มันแสดงอนิจจาลักษณะอยู่ตลอดเวลา
พระพุทธองค์จึงทรงตรัสไว้ว่า นามรูปังอนิจจัง รูป นาม กาย ใจของมนุษย์ไม่เที่ยงแท้แน่นอน
ไม่ว่าแต่เรื่องกายมนุษย์นี้ แม้จะใหญ่ขนาดท้องฟ้าก็ตาม ก็แสดงถึงความไม่เที่ยงทั้งหมด เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
แต่ว่าของใหญ่มันก็แตกดับช้าไปหน่อย ของเล็กมันก็แตกดับเปลี่ยนแปลงให้เห็นได้ง่าย มีอยู่อย่างนี้ มันเที่ยงที่ไหน ถ้ามันเที่ยงก็เป็นอยู่อย่างนั้นตลอดไป
ที่มันแก่ได้ เจ็บไข้ได้ป่วย มันแตกมันตายได้ ก็แสดงถึงว่ามันไม่เที่ยงแท้แน่นอนนั่นเอง
นามรูปังทุกชัง นามและรูปเป็นทุกข์ เมื่อมันเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอมันก็ทุกข์ จิตมันก็จะเอาให้ได้ตามใจหวัง เมื่อไม่ได้ตามใจหวังมันก็ทุกข์จิตทุกข์ใจขึ้นมาภายใน
ต้องตามรู้เห็นว่า รูป นาม กาย ใจ คน สัตว์ วัตถุธาตุทั้งหลายทั้งหมดทั้งมวลนี้
จะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์ เก่าใหม่อะไรก็ตาม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเรา นามรูปไม่ใช่ตัวตนของเรา
เมื่อไม่ใช่ของเรา แล้วมันเป็นของใคร เป็นของกลาง เป็นของกลางโลก กลางแผ่นดิน จิตอย่ามาหลงยึดเอาถือเอา
หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร
พระญาณสิทธาจารย์ นามเดิมสิม วงศ์เข็มมา ฉายา พุทฺธาจาโร เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญยกฝ่ายวิปัสสนาธุระสายพระป่าในประเทศไทยคณะธรรมยุติกนิกาย อดีตเจ้าอาวาสสำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ศิษย์ของพระครูวินัยธร (มั่น ภูริทตฺโต)
พระญาณสิทธาจารย์ หรือ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ท่านเกิดเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452 ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 12 ปีระกา เวลาประมาณ 21.00 น. ตรงกับปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่บ้านบัว ตำบลสว่าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร บิดามารดาชื่อ นายสาน - นางสิงห์คำ วงศ์เข็มมา มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 10 คน ท่านเป็นคนที่ 5
เมื่อท่านอายุ 17 ปี ได้ขอบิดามารดาบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดศรีรัตนาราม ซึ่งเป็นวัดมหานิกาย ณ บ้านบัว นั้นเอง เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2469 ตรงกับวัน อาทิตย์ แรม 7 ค่ำ เดือน 8 ปีมะโรง โดยมีพระอาจารย์สีทอง เป็นพระอุปัชฌาย์
ต่อมา กองทัพธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้เดินทางธุดงค์มาถึงหนองคาย ท่านก็เฝ้าดูสังเกตพระศีลวัตรปฏิบัติของหลวงปู่มั่นและหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม และเกิดความเลื่อมใส จึงขอถวายตัวเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น ต่อมาท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2472 โดยมีพระเทพสิทธาจารย์ (จันทร์ เขมิโย) เมื่อครั้งยังเป็นพระครูพิศาลอรัญญเขต เจ้าคณะธรรมยุติจังหวัดขอนแก่น เป็นพระอุปัชฌาย์ และมีพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระปลัดดวงจันทร์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "พุทฺธาจาโร" หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่าได้ติดตามพระอาจารย์สิงห์ ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าวิเวกธรรม (วัดป่าบ้านเหล่างา) อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น วัดป่าบ้านเหล่างานี้เป็นวัดอยู่ในเขตป่าช้า (บริเวณโรงพยาบาลขอนแก่นในปัจจุบัน) ซึ่งท่านพระอาจารย์สิงห์ และ ท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสำนักอบรมกรรมฐาน แก่ญาติโยมชาวขอนแก่น จากนั้นท่านก็เริ่มปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์สิงห์ ได้เรียนรู้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ จนถึงปี พ.ศ. 2480 หลังจากออกพรรษา ได้เรียนขออนุญาตต่อสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เดินทางธุดงค์กลับถึงบ้านบัว ตำบลสว่าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เพื่อโปรดญาติโยมที่บ้านเกิดตามคำอาราธนา และเมื่อหลวงปู่ปรารภ ที่จะให้มีวัดป่าธรรมยุติกนิกายขึ้นเป็นวัดแรกในบ้านบัว ญาติโยม จึงต่างสนองตอบ คำปรารภของหลวงปู่สิม อย่างกระตือรือร้นและเต็มอกเต็มใจ และในปี พ.ศ. 2504 ท่านพ่อลี ได้มรณภาพลง ทางคณะสงฆ์จึงมอบหมายให้หลวงปู่สิม ทำหน้าที่รักษาการเจ้าอาวาสชั่วคราว และในปี พ.ศ. 2508 และ พ.ศ. 2509 ท่านได้ย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส จำพรรษาอยู่ได้เพียง 1 พรรษา ในปี พ.ศ. 2510 หลวงปู่สิมได้อาพาธหลายโรค ท่านจึงได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสทุกวัด และได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดถ้ำผาปล่อง
หลวงปู่เป็นผู้มีความเด็ดเดี่ยวเข้มแข็ง อดทน พูดจริง ทำจริง ถือสัจจะมั่นคง เป็นผู้ไม่มากโวหาร ทุกวันหลวงปู่จะพาเริ่มงานตั้งแต่ตี 4 ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นพอ 10 โมงเช้า จึงพักฉันอาหาร หลังอาหารแล้วก็เริ่มทำงานกันต่อจนมืดค่ำ พอถึงเวลา 1 ทุ่ม หลวงปู่ก็จะพาสวดมนต์และฟังเทศน์ เสร็จแล้ว ก็เริ่มทิ้งหินลงในคอกไม้ที่สร้างไว้ ตลอดแนวฝาย กว่าจะได้จำวัดก็ 4 ทุ่ม หรือบางวัน งานจะติดพันจนถึงตีหนึ่งตีสอง เป็นดังนี้ตลอดระยะเวลา 4 เดือน นับตั้งแต่ เดือนมกราคม จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2521 จนฝายน้ำล้นสร้างสำเร็จ หลวงปู่จึงกลับไปจำพรรษาที่ถ้ำผาปล่อง