เราได้กำหนดทวนกระแสจิต คือเมื่อพิจารณาไปแล้วทุกอย่าง นับมาแต่การพิจารณาดูตัวทุกข์ คือ ขันธ์ทั้ง ๕ นั้นแล้ว และพิจารณาให้เป็นวิปัสสนา คือให้เห็นว่าขันธ์ทั้ง ๕ เท่านั้นเป็นธาตุ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และพิจารณาที่ธรรมทั้งหลายอันละเอียดวิเศษที่สุด จนเข้าใจว่าเป็นผู้บรรลุ ขจัดออกไปทั้งหมดโดยอนุโลมิกญาณแล้วท่านก็ทวนกระแสจิต กลับมาหา ฐีติภูตํ คือที่ตั้งของจิต ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า เป็นต้นเหตุการณ์
ทวนกระแสจิตที่เป็นอนุโลมิกญาณ ให้เห็นว่า “ใครผู้รู้ ใครผู้เห็น” คือให้รู้ว่าเป็นผู้ไม่ตาย ให้เห็นว่าเป็นธาตุ เพราะได้พิจารณาเห็นโดยญาณนั้นเป็นความจริง
อันตัว “ผู้รู้ ผู้เห็นอยู่ที่ไหน” อาศัยญาณที่บำเพ็ญขึ้นจนพอแก่ความต้องการ อันที่เรียกว่า อนุโลมิกญาณนั้นแล้ว ก็จะปรากฏว่าได้เห็นตัว “ผู้รู้ ผู้เห็น” “ผู้ไม่ตาย” คราวนี้ก็จะถือได้ว่าเป็นองค์มรรค ภาเวตพฺพนฺติ เม ภิกฺขเว มรรคควรเจริญให้มาก
ผู้ที่มาเห็นตัว “ผู้เห็น” กล่าวว่า เป็นผู้หายความสงสัยแล้วโดยสิ้นเชิง
ประวัติและปฏิปทา
พระครูวินัยธร มั่น ภูริทตฺโต หรือ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต (๒๐ มกราคม ๒๔๑๓ - ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๒) นามเดิม มั่น แก่นแก้ว เป็นพระมหาเถระฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ชาวจังหวัดอุบลราชธานี ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระอาจารย์ใหญ่แห่งสายพระธุดงคกรรมฐานในประเทศไทย เนื่องจากท่านเป็นผู้ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงธุดงควัตร และทรงข้อวัตรปฏิบัติ ได้อย่างงดงามและสมบูรณ์ที่สุด นับเป็นแบบอย่างที่ดีแก่บรรดาศิษยานุศิษย์ตลอดมา ท่านเป็นวิปัสสนาจารย์ที่เยี่ยมยอดที่สุดแห่งยุค มีปฏิภาณโวหารในการแสดงธรรมอันละเอียดลึกซึ้งให้เข้าใจง่าย ขัดเกลาจิตใจผู้รับฟังให้ประณีตขึ้นไปโดยลำดับ จนสามารถเข้าถึงธรรมที่ควรแก่ภูมิของตน นับว่าเป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งในการนำคำสอนธรรมะภาคปฏิบัติที่แท้จริงกลับมาเผยแผ่สู่ผู้แสวงหาทางหลุดพ้นทั่วโลก
เมื่ออายุได้ ๑๗ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดบ้านคำบง (วัดศรีบุญเรือง) อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี ท่านเป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดและพากเพียรในการศึกษาธรรมะ แต่พอบวชได้ ๒ ปี ก็จำต้องลาสิกขาออกไปเพื่อทำงานช่วยเหลือครอบครัว ต่อมาได้พบและเลื่อมใสในข้อวัตรปฏิบัติของพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล เมื่อท่านอายุ ๒๒ ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดเลียบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพระอริยกวี (อ่อน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้รับฉายาว่า “ภูริทตฺโต ผู้ให้ปัญญา”
เมื่อบวชแล้ว ได้ฝึกปฏิบัติกรรมฐานกับพระอาจารย์เสาร์และออกติดตามท่านไปฝั่งประเทศลาว ในช่วงพรรษานั้น หลวงปู่มั่นอาพาธเป็นไข้มาลาเรีย จึงทำสมาธิด้วยคำบริกรรมพุทโธ เมื่อออกจากสมาธิปรากฏว่าไข้ได้หายไปทันที นี่จึงเป็นการใช้ธรรมโอสถระงับอาพาธเป็นครั้งแรกของท่าน พอกลับมาฝั่งประเทศไทย ได้ไปพักอยู่ที่พระธาตุพนม ได้เห็นอัศจรรย์พระบรมสารีริกธาตุเสด็จ จึงนำคณะศรัทธาญาติโยมทำความสะอาดและปฏิบัติบูชาในวันมาฆบูชา ต่อมาหลวงปู่มั่นได้จาริกธุดงค์ไปในประเทศพม่าเพื่อแสวงหาครูบาอาจารย์ จนไปถึงพระธาตุชเวดากอง แต่ก็ไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจนัก หลังกลับมาเมืองไทย ท่านไปบำเพ็ญภาวนาอยู่ที่ถ้ำผาบิ้ง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เพียงองค์เดียว ในช่วงนั้น ท่านทำสมาธิได้ผลถึงที่สุด แต่ยังไม่ได้เกิดปัญญา เมื่อกลับมาที่วัดเลียบ ท่านก็พยายามทำความเพียรต่อไป แต่ในคราวนี้พอได้กำลังความสงบจากการทำสมาธิแล้ว ท่านจะกำหนดจิตพิจารณากายในทุกอิริยาบถเพื่อให้จิตเกิดความเบื่อหน่าย ปรากฏว่าจิตไม่หวั่นไหวตามอารมณ์เหมือนเดิม ท่านจึงปักใจไปว่าน่าจะถูกทางแล้ว แต่ในวันหนึ่งขณะท่านพิจารณาซากศพอยู่ก็ปรากฏดวงแก้วสว่างไสวขึ้น ท่านเลยทิ้งการพิจารณากายมากำหนดเอาเฉพาะดวงแก้วนั้นเป็นอารมณ์ จึงเป็นเหตุให้ท่านหลงติดอยู่ในนิมิตถึง ๓ เดือน เมื่อท่านเห็นว่าไม่ตรงต่ออริยมรรค จึงกลับมาพิจารณากายตามเดิม
ปี ๒๔๕๕ หลวงปู่มั่นเดินธุดงค์ไปภาวนาที่ถ้ำไผ่ขวาง ข้างน้ำตกสาลิกา จังหวัดนครนายก มีวันหนึ่งท่านอาพาธมีอาการโรคท้องร่วง จึงไปนั่งภาวนาพิจารณากายและธรรมต่างๆ เป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืนโดยไม่แตะต้องอาหารเลย ในตอนนั้นเกิดนิมิตเห็นตนเองเวียนตายเวียนเกิดเป็นสุนัขนับชาติไม่ถ้วน จนทำให้ท่านเกิดความสลดใจและอธิษฐานจิตถอนการปรารถนาพุทธภูมิ จากนั้นเวลาห้าทุ่มก็เกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ขึ้น คือเหมือนมียักษ์มาพยายามทำร้ายท่านให้ตายอยู่หลายรอบ แต่ท่านก็มิได้สะทกสะท้านและเอาทุกข์มาพิจารณาจนเกิดความแจ่มแจ้งในจิต โลกราบเป็นหน้ากลอง เห็นทุกอย่างในโลกมีสภาพเป็นอันเดียวกัน ต่อมาเวลาใกล้รุ่ง ท่านได้เข้าไปพิจารณาในสมุทัย ตัณหา กิเลส อุปาทาน และทวนกระแสกลับมาหาที่ตั้งของจิต พิจารณาเห็นว่าขันธ์ทั้ง ๕ เป็นธาตุ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จนปรากฏว่าโลกนี้ราบเป็นหน้ากลองเป็นครั้งที่สอง จึงนับว่าท่านได้เข้าถึงธรรมขั้นละเอียดในพรรษาที่ ๒๑ นี้เอง
ปี ๒๔๕๗ ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) นิมนต์หลวงปู่มั่นไปจำพรรษาและอบรมพระเณรที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพ ต่อมาปี ๒๔๕๙ ท่านออกไปตามหาและแนะนำการปฏิบัติให้พระอาจารย์เสาร์ ที่ถ้ำผากูด อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม จนพระอาจารย์เสาร์ลาความปรารถนาในพุทธภูมิและสิ้นความสงสัยในแนวทางปฏิบัติ ปี ๒๔๗๑ ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ ได้นิมนต์หลวงปู่มั่นให้ขึ้นมาภาคเหนือและมอบหมายให้ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อออกพรรษาแล้วท่านก็สละตำแหน่ง โดยให้เหตุผลว่าลาภยศจะเป็นภัยต่อการปฏิบัติ จากนั้นท่านออกธุดงค์บำเพ็ญภาวนาตามสถานที่วิเวกต่างๆ ในภาคเหนือเป็นเวลา ๑๒ ปี
ปี ๒๔๘๒ ท่านเดินทางกลับภาคอีสาน ตามการนิมนต์ของพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ โดยเข้าไปพำนักที่กรุงเทพเป็นการชั่วคราว ก่อนจะเดินธุดงค์ไปประจำที่วัดโนนนิเวศน์ จังหวัดอุดรธานี เป็นเวลา ๒ พรรษา ซึ่งที่นี่มีพระภิกษุสามเณรผู้แสวงหาทางพ้นทุกข์หลั่งไหลกันไปขอถวายตัวเป็นศิษย์ท่านเป็นจำนวนมาก ในช่วงบั้นปลายชีวิต ปี ๒๔๘๘-๒๔๙๒ ท่านมาพำนักอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร ซึ่งแม้ว่าท่านจะชราภาพมากแล้ว แต่ท่านก็ได้ทุ่มเทชีวิตสั่งสอนอบรมธรรมแก่พระเณรและสาธุชนตราบจนวาระสุดท้ายอย่างเต็มกำลังโดยไม่เห็นแก่เหนื่อยยาก จนมีผู้ได้รับผลการปฏิบัติอันควรเป็นจำนวนมาก