หลวงปู่ก้าน จิตฺตธมฺโม เจ้าอาวาสวัดถ้ำเป็ด อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร ชื่อเดิม ก้าน ทัศนิตย์ เป็นบุตรของนายมาและนางนาง ทัศนิตย์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๔๘๓ ที่บ้านส่องดาว ซึ่งในขณะนั้นเป็นตำบลหนึ่งในเขตของอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ท่านมีบรรพบุรุษเป็นชาวภูไท ท่านมีพี่น้องรวม ๖ คน ได้แก่
๑) ร.อ. อานนท์ ทัศนิตย์
๒) นางกองสี (ถึงแก่กรรม)
๓) หลวงพ่อก้าน
๔) นายเก่ง (ถึงแก่กรรม)
๕) นายบุญเซ็ง
๖) นางสวย
หลวงปู่เรียนจบชั้น ม.๖ ที่โรงเรียนนิคมศึกษา จังหวัดหนองคาย ตอนไปเรียนต่อที่นั้น ท่านไปอยู่กับทางญาติฝ่ายบิดาซึ่งได้บวชเป็นพระกับสามเณรที่วัดในตัวจังหวัด ชีวิตในวัยเรียนของท่านจึงได้รับการปลูกฝังประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีของชาวพุทธ ได้มีโอกาสเดินตามพระสงฆ์ไปบิณฑบาต และช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ ในวัด ส่วนในเรื่องการปฏิบัติ บิดาของท่านได้สอนให้ทำสมาธิภาวนามาตั้งแต่ยังเด็ก หลวงปู่ได้บริกรรมพุทโธมาตั้งยังเป็นนักเรียนชั้นประถม และจะนั่งสมาธิในเวลาว่างเป็นประจำ
เมื่อเรียนจบและกลับมาอยู่ที่บ้านส่องดาว เนื่องจากครอบครัวของท่านทำการค้าขาย มารดาจึงอยากให้ท่านมาช่วยกิจการของครอบครัว แม้ว่าหลวงปู่จะไม่ชอบทางการค้าขายนัก แต่ก็ไม่อยากขัดใจมารดา ปรากฏว่าในช่วงนั้นมีเหตุการณ์ที่สำคัญสองเหตุการณ์ ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่หันเหชีวิตของหลวงปู่เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ในเวลาต่อมา คือ
- บิดาของท่านเกิดเบื่อหน่ายในทางโลก และขอลาครอบครัวไปบวชเป็นครั้งที่สอง (ครั้งแรกก่อนจะลาสิกขามาแต่งงานกับมารดาท่าน) โดยมี พระครูอดุลสังฆกิจ วัดกุดเรือคำ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร เป็นพระอุปชฌาย์ ได้รับฉายาว่า ฐานวิริโย
- พี่สาวคนโตของมารดา คือป้าจัน ประสงค์จะทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้สามีที่ถึงแก่กรรม จึงมาขอร้องให้หลวงปู่ที่เป็นหลานชายบวชอุทิศให้ โดยตกลงว่าจะบวชให้สัก ๓ เดือน หรืออย่างมากไม่เกิดหนึ่งปีเท่านั้น
เมื่อรับคำจะบวชอุทศให้แล้ว หลวงปู่ก้านได้ไปฝึกขานนาคที่ถ้ำอภัยดำรงธรรม โดยมีพระอาจารย์วัน อุตฺตโม ที่ถือเป็นลูกศิษย์องค์ที่สำคัญของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต รูปหนึ่ง ได้เมตตาเป็นผู้ฝึกขานนาคและชี้แนะเรื่องการปฏิบัติภาวนาให้
หลวงปู่ก้าน บรรพชาอุปสมบทเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ ขณะอายุได้ ๒๑ ปี ณ วัดคามวาสี ตำบลตาลโกน อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร โดยมีพระครูพุฒิวราคม (พุฒ ยโส) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระครูพิศาลปัญญาคม (พระประสาร ปัญฺญาพโล) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า จิตฺตธมฺโม แปลว่า ผู้มีจิตเข้าถึงธรรม
ช่วงก่อนเข้าพรรษา หลวงปู่ก้านได้เดินทางไปพำนักอยู่กับพระอาจารย์วัน อุตฺตโม ที่ถ้ำอภัยดำรงธรรม อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร โดยมีพระภิกษุและสามเณรที่อยู่ด้วยกันจำนวนหนึ่ง เรื่องเสนาสนะก็พำนักอยู่ที่กุฏิชั่วคราว ซึ่งมีคณะศรัทธามาสร้างถวายเป็นกระต๊อบไม้ไผ่มุงด้วยหญ้า พอเหมาะสมกับสมณเพศผู้อยู่ด้วยความสงบและเรียบง่าย ในช่วงนั้นพระอาจารย์วันได้เมตตาชี้แนะแนวทางการปฏิบัติภาวนาให้ท่านอยู่เสมอ ให้รักษาสติอยู่ทุกอิริยบถ ทั้งยืน เดิน นั่ง นอน มีอยู่ค่ำวันหนึ่ง หลังจากเดินจงกรมเสร็จแล้ว หลวงปู่ก็เข้านั่งสมาธิ ใช้เวลาไม่นานจิตก็เกิดความสงบรวมพรึบลง เกิดความอัศจรรย์ ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นกับการอบรมสั่งสอนของพระอาจารย์วันทำให้หลวงปู่ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะบวชตลอดชีวิต ไม่ใช่เพียง ๓ เดือน หรือ ๑ ปี อย่างที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก
ในปีนั้น หลวงปู่ก้านได้ไปจำพรรษาที่วัดบ้านเกิด คือวัดสามัคคีธรรม ตำบลส่องดาว จังหวัดสกลนคร มีพระอาจารย์กรณ์ สุภโร เป็นเจ้าอาวาส ส่วนหลวงพ่อมา ฐานวิริโย บิดาของท่าน เมื่อได้ทราบข่าว ก็เดินทางมาจำพรรษาด้วยกันที่วัดสามัคคีธรรม
ประวัติการจำพรรษาและเหตุการณ์ที่สำคัญของหลวงปู่ก้าน ในปีต่างๆ มีดังนี้
พรรษาที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๔)
จำพรรษาที่วัดสามัคคีธรรม ตำบลส่องดาว จังหวัดสกลนคร โดยมีพระอาจารย์กรณ์ สุภโร เป็นเจ้าอาวาส หลวงปู่จับไข้มาลาเรียหรือไข้ป่าที่มีการระบาดอยู่ในเวลานั้น ในช่วงกลางพรรษาท่านเริ่มท่องจำพระปาฏิโมกข์ จนเมื่อถึงวันออกพรรษา ท่านสามารถท่องจำได้ภายในระยะเวลาหนึ่งเดือนเศษ ทั้งๆ ที่มีอาการจับไข้ตลอดทั้งพรรษา
พรรษาที่ ๒-๓ (พ.ศ. ๒๕๐๕-๒๕๐๖)
จำพรรษาที่วัดประชานิยม อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร โดยมีพระอาจารย์พร สุมโน เป็นเจ้าอาวาส ใน ๒ พรรษานี้หลวงปู่เร่งทำความเพียรในการปฏิบัติภาวนาอย่างไม่ลดละ ในบางวันก็ขึ้นไปวัดถ้ำอภัยดำรงธรรม เพื่อรับฟังธรรมเทศนาจากพระอาจารย์วัน ซึ่งอยู่ห่างออกไปต้องใช้การเดินเท้าเป็นเวลาประมาณสองชั่วโมง
พรรษาที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๐๗)
ก่อนเข้าพรรษาหลวงปู่ก็ออกธุดงค์ไปบำเพ็ญสมณธรรมตามที่สงบสัปปายะต่างๆ จนเมื่อใกล้ถึงเวลาเข้าพรรษาจึงได้ไปจำพรรษาที่วัดวีรธรรม อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร โดยมีพระอาจารย์ด้วงเป็นเจ้าอาวาส ตลอดพรรษานี้ท่านได้เร่งทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ โดยได้ลดการฉันอาหารลง และเวลากลางคืนจะทำความเพียรโดยไม่นอนเลย จะพักเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ตอนกลางวันเท่านั้น
พรรษาที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๐๘)
ก่อนเข้าพรรษาหลวงปู่ได้ไปช่วยสร้างฝายกั้นน้ำของหมู่บ้านที่ใกล้กับวัดกุดเรือใหญ่ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร จากนั้นท่านก็ออกจาริกบำเพ็ญสมณธรรมตามชนบทและป่าเขา ในปีนี้ท่านมาจำพรรษาอยู่ที่วัดดานศรีสำราญ อำเภอพรเจริญ จังหวัดบึงกาฬ รวมกับหลวงปู่คำตัน ฐิตธมฺโม และพระอาจารย์พั่ว ช่วงพรรษานี้ท่านได้กลับมาเป็นไข้มาลาเรียที่กำเริบขึ้นอีกจนตลอดพรรษา จนท่านต้องใช้ยาสมุนไพรพื้นบ้านสลับกับการใช้ธรรมโอสถ ซึ่งท่านเล่าว่าคือการเข้าที่ภาวนาจนจิตรวมอยู่ในอัปปนาสมาธิตลอดระยะเวลาหนึ่งจนจิตคลายตัวเอง ตามรอยของครูบาอาจารย์สายกัมมัฏฐาน
พรรษาที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๐๙)
หลวงปู่กลับมาจำพรรษาที่วัดโนนสะอาด อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร ซึ่งใกล้กับบ้านเกิด และมีโอกาสโปรดโยมแม่กับญาติๆ พี่น้องของท่าน เมื่อญาติพี่น้องจัดถวายยาเพื่อบรรเทาอาการไข้ป่าของท่านแล้ว ท่านก็มีอาการดีขึ้น และได้ไปเยี่ยมหลวงปู่มา บิดาของท่าน ที่จำพรรษาอยู่ที่วัดพระธาตุฝุ่น อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร
พรรษาที่ ๗-๘ (พ.ศ. ๒๕๑๐ – ๒๕๑๑)
ไปช่วยนำชาวบ้านสร้างวัดท่าศิลา อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร พร้อมกับหลวงพ่อมาและหลวงปู่พั่ว ในการปฏิบัติส่วนตัวก็เร่งความเพียรภาวนาอย่างไม่ลดละ
พรรษาที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๑๒)
ในช่วงต้นปีหลวงปู่ได้ไปช่วยเตรียมงานถวายเพลิงสรีรสังขารหลวงปู่พร สุมโน ส่วนในพรรษาก็พำนักอยู่ที่วัดป่าภูวังงาม อำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี
พรรษาที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๕๑๓)
ในพรรษานี้ หลวงปู่ได้มาพำนักอยู่ที่วัดอรัญวาสี อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร มีเหตุการณ์ที่สำคัญในฝ่ายบ้านเมือง คือการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์กับทางราชการ และในตัวอำเภอส่องดาวก็ถูกประกาศว่าเป็นพื้นที่สีแดง ในช่วงนี้พระอาจารย์วันได้นำชาวบ้านสร้างทางขึ้นมาถ้ำพวงที่อยู่ถัดจากวัดถ้ำอภัยดำรงธรรม โดยมีจุดประสงค์เพื่อปฏิสังขรณ์และอนุรักษ์สถานที่ที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ เคยมาพำนักอาศัยปฏิบัติธรรม จนมีวันหนึ่งพระอาจารย์วันถูกเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ เพราะเดินทางในเวลากลางคืน จนถูกหน่วยทหารตระเวนกราดยิงใส่ หลวงปู่ก้านเองที่ก็อยู่ไม่ไกลจากที่เกิดเหตุนัก และได้ยินเสียงปืน เอ็ม ๑๖ รั่วๆ ดังลั่น แต่โชคดีว่าห่ากระสุนปืนนั้นไม่ถูกองค์พระอาจารย์วันและพระผู้ติดตามทุกรูป สุดท้ายในเวลาต่อมาการสร้างทางถึงไปถ้ำพวกบนภูผาเหล็กก็สำเร็จลง
พรรษาที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๑๔)
ในช่วงต้นปีหลวงปู่ได้เดินทางไปจันทบุรี ในช่วงฤดูฝนก็ได้เข้าจำพรรษาที่วัดวิเวการาม (วัดเขาน้อยถ้ำแฉลบ) อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี เมื่อถึงเวลาออกพรรษาแล้ว ท่านก็เดินทางกลับสกลนคร
พรรษาที่ ๑๒-๑๕ (พ.ศ. ๒๕๑๕ - ๒๕๑๘)
ในช่วงเวลา ๓ ปีนี้ หลวงปู่ก้านจาริกไปบำเพ็ญสมณธรรมตามสถานที่ต่างๆ ตามป่าเขาในดินแดนอีสานที่สงัดวิเวก เมื่อจะเข้าพรรษา ท่านก็กลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดสามัคคีธรรม ตำบลส่องดาว จังหวัดสกลนคร เมื่อถึงเวลา ๑๕ ค่ำ หลวงปู่จำไปที่วัดอภัยดำรงธรรมเพื่อรับฟังพระธรรมเทศนาและข้อชี้แนะแนวทางปฏิบัติจากพระอาจารย์วัน อุตฺตโม อยู่เป็นประจำ
พรรษาที่ ๑๖ (พ.ศ. ๒๕๑๙)
ปีนี้หลวงปู่มาจำพรรษาที่วัดดอนไชย อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมกับพระอาจารย์เคน กนฺตสีโล
พรรษาที่ ๑๗-๑๙ (พ.ศ. ๒๕๒๐ - ๒๕๒๒)
ก่อนเข้าพรรษา พ.ศ. ๒๕๒๐ หลวงปู่ได้ออกธุดงค์จาริกหาที่สงบวิเวกเพื่อการบำเพ็ญเพียรภาวนา ได้เข้าไปในพื้นที่ของจังหวัดเพชรบูรณ์ ทั้งในเขตหล่มเก่า เขตเฉลียงลับ เขตพุเตย อำเภอวิเชียรบุรี และอำเภอหนองไผ่ ที่ยังเห็นพื้นที่ป่าเขียวและมีสัตว์ป่าต่างๆ สมบูรณ์ หลังจากนั้นท่านเดินทางกลับมาที่อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร และพำนักที่วัดสามัคคีธรรม ในช่วง ๓ พรรษานี้ท่านก็ยังเดินทางไปฟังพระธรรมเทศนาจากพระอาจารย์วัน อุตฺตโม ที่วัดถ้ำอภัยดำรงธรรมเป็นประจำตามได้เคยปฏิบัติมา
พรรษาที่ ๒๐ (พ.ศ. ๒๕๒๓)
ในวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๓ เกิดเหตุการณ์สำคัญในวงศ์พระป่ากัมมัฏฐาน ต้องสูญเสียครูบาอาจารย์ที่เป็นที่เคารพนับถือถึงห้ารูปจากเหตุการณ์เครื่องบินตก รวมกับพระอาจารย์วันด้วย หลวงปู่เล่าให้ฟังว่าก่อนจะถึงวันนั้น พระอาจารย์วันได้เทศน์เรื่องมรณสติและความตายอยู่หลายครั้ง แต่หลวงปู่ก็ไม่ได้เฉลียวใจ
ในช่วงนั้นฝ่ายบ้านเมืองก็มีเหตุการณ์สำคัญคือทางการออกคำสั่งปรับทิศทางการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์จากที่เคยอาการความรุนแรงในการปราบปรามมาใช้ความประนีประนอม ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ในไทยต้องพ่ายแพ้และเสื่อมอำนาจลง ดังนี้บริเวณรอบเขตที่หลวงปู่พำนักอยู่ คือสว่างแดนดิน วาริชภูมิ ภูพาน จึงเริ่มกลับเข้าสู่ความสงบ
ในช่วงเข้าพรรษา หลวงปู่ก้านมาพำนักอยู่ที่วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร
พรรษาที่ ๒๑ (พ.ศ. ๒๕๒๔)
หลังจากช่วยงานพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์วัน หลวงปู่ก้านและพระอาจารย์บัวพันธ์ ปญฺญาพโล (น้องชายหลวงปู่บุญมี ฐิตปุญฺโญ) ได้เดินทางไปวัดสีบานเย็น อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยพระอาจารย์บัวพันธ์ได้รับอาราธนานิมนต์ให้ไปปั้นพระประธานที่วัดนี้ ส่วนตัวหลวงปู่เองก็เป็นลูกมือช่วย
พรรษาที่ ๒๒ (พ.ศ. ๒๕๒๕)
หลวงปู่ก้านเดินทางกลับมาสู่อำเภอส่องดาวบ้านเกิดของท่าน ตามคำเชิญของพระอาจารย์หลอ นาถกโร เจ้าอาวาสวัดถ้ำอภัยดำรังธรรมองค์ปัจจุบัน และเป็นลูกศิษย์ที่สำคัญของพระอาจารย์วัน อุตฺตโม อีกท่านหนึ่ง เมื่อกลับมาถึงแล้ว ในปีนี้ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดสามัคคีธรรม ตำบลส่องดาว จังหวัดสกลนคร
พรรษาที่ ๒๓ (พ.ศ. ๒๕๒๖) จนถึงปัจจุบัน
หลวงปู่ก้านได้เดินทางขึ้นมาพำนักที่วัดถ้ำเป็ด เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๖ โดยหลังจากนั้นท่านก็ไม่ได้ไปจำพรรษาที่อื่นอีกเลย ซึ่งแม้ว่าหลวงปู่ไม่เคยจำพรรษาที่ถ้ำเป็ดนี้ แต่ก็ได้เคยจาริกมาพำนักอยู่หลายครั้งเพื่อบำเพ็ญความเพียร ในขณะนั้นที่ถ้ำเป็ดเป็นเพียงที่พักสงฆ์ขนาดเล็ก ไม่ได้มีเสนาสนะ ถนนหนทาง และสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างเช่นในปัจจุบัน
เมื่อหลวงปู่ได้มาอยู่ที่ถ้ำเป็ดได้ ๒-๓ วัน หลวงพ่อมา ฐานวิริโย บิดาของท่านก็เดินทางจากวัดพระธาตุฝุ่นขึ้นมาพำนักอยู่ด้วย และอยู่กับหลวงปู่เป็นเวลา ๑๗ ปี จนได้มรณภาพไปในพ.ศ. ๒๕๔๓ ขณะมีสิริรวมอายุได้ ๙๔ ปี ๔๐ พรรษา
ในครั้งที่หลวงปู่ขึ้นไปพำนักที่ถ้ำเป็ดเป็นการถาวรนั้น บริเวณหน้าถ้ำมีเพียงกุฏิเล็ก ๒ หลัง กับศาลาฉัน ที่พระอาจารย์ฝั้นกับคณะศรัทธาได้ร่วมกับสร้างไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๕ แต่ก็มีความทรุดโทรม คือแม้ไม้ที่สร้างยังไม่ผุพัง แต่ก็ปกคลุมไปด้วยเถาวัลย์และต้นไม้เลื้อยต่างๆ ท่านกับหลวงพ่อมา จึงได้เริ่มบูรณะซ่อมแซมศาลาฉันพอให้ได้ใช้ประโยชน์ และสร้างกุฏิเล็กๆ ขึ้นใหม่เพียงเพื่อสำหรับการภาวนา ต่อมาในพ.ศ. ๒๕๓๐ พระอาจารย์อุ่นหล้า ฐิตธมฺโม วัดป่าแก้ว อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ได้นำคณะศรัทธามาทอดกฐิน จึงได้สร้างศาลาไม้หลังใหญ่ไว้ไม่ไกลจากหน้าถ้ำ ต่อมาหลวงปู่ได้พัฒนาถนนเส้นที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน โดยเริ่มจากทางถาง เป็นทางลูกรังอัดแน่น และสำเร็จเป็นทางคอนกรีตใน พ.ศ. ๒๕๕๗
ต่อมาจึงได้มีคณะศรัทธากลุ่มต่างๆ ไปร่วมสร้างเสนาสนะให้สมบูรณ์ขึ้นอีกมากมาย อาทิ ศาลาคอนกรีตหลังใหญ่ ศาลาฉันหลังใหม่ สวนนักษัตร กุฏิ โรงครัว ห้องน้ำ บ่อน้ำบาดาล โดยหลวงพ่อไม่เคยบอกบุญเรี่ยไรญาติโยมเลย ท่านได้ใช้ปัจจัยที่มีผู้มาถวายทำบุญด้วยจิตศรัทธา และได้สร้างเสนาสนะต่างๆ สำหรับทำกิจของพระสงฆ์และให้ญาติโยมได้มาบำเพ็ญกุศลในรูปแบบต่างๆ ที่วัดด้วย
ปัจจุบันหลวงปู่ก้าน จิตฺตธมฺโม มีอายุ ๘๓ ปี ๖๓ พรรษา โดยยังพำนักอยู่ที่วัดถ้ำเป็ด ดูแลคณะสงฆ์กว่าสิบรูปที่มาบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ที่นี่ และเมตตาสงเคราะห์ญาติโยมที่มากราบสักการะท่านโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยแม้ว่าท่านจะมีอายุมากแล้ว จนท่านเป็นที่รู้จักและเคารพศรัทธาของทุกๆ คนที่ได้มีโอกาสรู้จักพระมหาเถระรูปนี้