ถ้าเห็นแจ้งแทงตลอดธรรมทั้งหมด อะไรก็เป็นธรรมะ ธรรมดา รู้ธรรมชาติ แจ้งในธรรมชาติหรือธรรมะ มันก็สบาย ความเห็นอย่างอื่นมันก็ดับไปพร้อมกันนั้น ความเห็นผิดมันดับ ทุกข์ก็ดับพร้อม ก็สบายขึ้นตามธรรมดา ไม่ต้องมหัศจรรย์อะไรหรอก มันเป็นธรรมชาติถึงจะรู้ว่าไฟ ไม่ไปจับมันมันก็ไม่ร้อน ถ้าไม่รู้มันก็จับอยู่อย่างนั้น
ถ้ารู้ธรรม เห็นธรรม มันก็หายโง่ พ้นทุกข์พอแล้ว หายใจเข้า หายใจออกทีก็ธรรมดา ได้ยินก็ธรรมดา ได้เห็นก็ธรรมดา รู้สึกนึกคิดก็ธรรมดา ธรรมดาทั้งนั้น เป็นวิญญาณที่เกิดขึ้นทุกขณะ
พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้โลกุตตรธรม เห็นก็ได้แต่เห็น วางไปไม่ยึดถือ ดับความยึด จึงจะไปรอดด้วยสติ ตัวสติแท้ๆ เป็นโลกุตตรธรรมเป็นธรรมพ้นโลก ตัวโลกุตตรธรรมเหมือนไฟฟ้าแลบ แปลบเดียวมันก็เห็นหมดแล้ว แลบหนเดียวไม่แลบมาก
ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปณฺฑิโต (๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๗ - ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๑) วัดสวนป่าบุญฤทธิ์ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา นามเดิม บุญฤทธิ์ จันทรสมบูรณ์ ชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นพระเถราจารย์นักปฏิบัติที่เป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงยิ่งรูปหนึ่งในวงพระป่าสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ท่านมีศีลาจารวัตรงดงาม ชอบจาริกธุดงค์อยู่ตามป่าตามเขา และได้ปฏิบัติศาสนกิจเป็นพระธรรมทูตเดินทางไปเผยแผ่ธรรมในต่างประเทศกว่า ๓๐ ประเทศ
ตั้งแต่วัยเด็ก มารดาเป็นผู้ปลูกฝังความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ท่านจึงมีนิสัยรักการไหว้พระสวดมนต์และอ่านหนังสือธรรมะมาโดยตลอด ท่านเป็นนักเรียนทุนจบการศึกษาจากต่างประเทศ สามารถพูดได้หลายภาษา ได้เข้ารับราชการที่หอสมุดแห่งชาติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็นทูตที่พระตะบอง ประเทศกัมพูชา และเป็นล่ามประจำจังหวัดที่หนองคาย ตามลำดับ ในช่วงระหว่างที่รับราชการอยู่ที่จังหวัดหนองคายนี้เอง ท่านมีโอกาสได้สนทนาธรรมกับพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน หนึ่งในศิษย์อาวุโสของหลวงปู่มั่นอยู่เป็นประจำ จนวันหนึ่งท่านได้สภาวธรรม ใจว่างโล่งไปหมด จะพยายามคิดอะไรสักอย่างมันก็ไม่คิด รู้สึกตัวว่าหมดห่วงในสิ่งทั้งปวง และตัดสินใจสละชีวิตฆราวาสตั้งแต่บัดนั้น
ท่านได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดศรีเมือง อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย ในปี ๒๔๘๙ ขณะอายุได้ ๓๒ ปี โดยมีพระธรรมไตรโลกาจารย์ (รักษ์ เรวโต) เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อบวชแล้วท่านก็อยู่ศึกษาธรรมกับพระอาจารย์กู่ต่อไป โดยในช่วงแรกท่านลองผิดลองถูกฝึกกสิณนิมิตภาวนา จนไม่นานนักก็เกิดความชำนาญ จากนั้นท่านหันมาฝึกสติปัฏฐาน ซึ่งท่านก็ตั้งใจทำความเพียรอย่างเข้มข้นจนจิตรวมลงสมาธิได้ จิตมีความรู้ในธรรมบางส่วนขึ้นมา ท่านเลยเลิกคิดที่จะลาสิกขา ในปี ๒๔๙๑ ท่านไปอยู่จำพรรษากับหลวงพ่อลี ธมฺมธโร ที่วัดป่าคลองกุ้ง จังหวัดจันทบุรี ปีต่อมาท่านได้มีโอกาสพบครูบาอาจารย์ที่สำคัญหลายท่านที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม และหลวงปู่ชอบ ฐานสโม
ในปี ๒๔๙๓ หลวงปู่บุญฤทธิ์ไปจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่ชอบสององค์ ที่วัดบ้านยางผาแด่น จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีโอกาสถวายอุปัฏฐากท่านอย่างใกล้ชิด เมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ชอบได้ให้ธรรมะเตือนสติก่อนที่จะจากไปว่า “ที่ภาวนามาแล้วนั่น มันไม่ถูกนะ ไม่คิดอะไรเลยได้อย่างไร” จากนั้นมา หลวงปู่บุญฤทธิ์ก็ปรับหลักในการภาวนาใหม่ โดยเน้นฝึกอานาปานสติมากยิ่งขึ้น หลวงปู่บุญฤทธิ์ตั้งอธิษฐานจิตอยู่ที่วัดยางผาแด่นทั้งหมดรวม ๔ พรรษา ส่วนใหญ่ท่านจะอาจหาญอยู่ตามป่าเขาสูงนี้รูปเดียว บางช่วงก็มีครูบาอาจารย์คือหลวงปู่ชอบ และหลวงปู่บุญจันทร์ จนฺทวโร แวะเวียนมาเยี่ยมและให้คติธรรม
จากนั้นก็จาริกวิเวกไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อบำเพ็ญสมณธรรมเรื่อยมาอีกกว่า ๒๐ ปี ทั้งในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ของประเทศไทย ท่านใช้ชีวิตส่วนใหญ่ธุดงค์อยู่ในป่าในเขาอย่างสมถะ และปรารภความเพียรอย่างอุกฤษฏ์อยู่เสมอ ในช่วงพรรษา ๒๘-๕๘ ท่านเป็นกำลังสำคัญในการนำพระพุทธศาสนาออกไปเผยแผ่ในหลายประเทศทั่วโลก อาทิ ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี เม็กซิโก ออสเตรีย เบลเยียม สวีเดน สหรัฐอเมริกา และจีน นอกจากท่านจะสื่อสารได้หลายภาษาอย่างคล่องแคล่วแล้ว ยังสามารถเชื่อมโยงความรู้และประสบการณ์ทางธรรมเข้ากับคำอธิบายทางหลักวิทยาศาสตร์ นับว่าเป็นการเผยแผ่ธรรมะให้กับปัญญาชนในต่างประเทศในรูปแบบที่ไม่เคยมีใครทำได้อีกด้วย
ในช่วงบั้นปลายชีวิต หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปณฺฑิโต พำนักอยู่ที่ที่พักสงฆ์สวนทิพย์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ได้เทศนาสั่งสอนญาติโยมด้วยความเอาใจใส่และเมตตาธรรมตลอดมา จนกระทั่งมรณภาพในปี ๒๕๖๑ รวมสิริอายุ ๑๐๔ ปี ๗๓ พรรษา นับว่าเป็นพระวิปัสสนาจารย์สองฝั่งโลก คือได้สร้างรากฐานเพื่อความเจริญมั่นคงและยั่งยืนของพระพุทธศาสนาทั้งในโลกฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก ควรได้รับการยกย่องเชิดชูสืบไป